fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเอกสิทธิ์ของผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น 


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเอกสิทธิ์ของผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น

วันที่เอกสาร

22 พฤษภาคม 2562

เลขที่หนังสือ

กค 0702/3406

เลขตู้

82/40864

ข้อกฎหมาย

มาตรา 3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 9)

ข้อหารือ

          หน่วยงาน A ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเอกสิทธิ์ของผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ซึ่งมาปฏิบัติงาน ณ หน่วยงาน A โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
          1.หน่วยงาน A แจ้งว่าประเทศ B ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สัญชาติญี่ปุ่น จำนวน 3 ราย มาปฏิบัติงานชั่วคราวในประเทศไทย ประจำที่หน่วยงาน A ซึ่งตั้งอยู่ จังหวัดสมุทรปราการ โดยปฏิบัติงานในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
               1.1 ปฏิบัติงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (Senior Expert) เป็นระยะเวลา 2 ปี
               1.2 ปฏิบัติงานชั่วคราวในตำแหน่งรองเลขาธิการ (Deputy Secretary General) และรองผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม (Deputy Chief of the Training Department) พร้อมทั้งตำแหน่งผู้จัดการโครงการทุนสนับสนุน (Trust Fund Project Manager) เป็นระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
               1.3 ปฏิบัติงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (Senior Expert) และผู้ช่วยผู้จัดการโครงการเงินทุนสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น (Assistant Project Manager for the Japanese Trust Fund Programs) เป็นระยะเวลา 1 ปี
          2.หน่วยงาน A แจ้งว่าผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวได้รับเอกสิทธิ์จากรัฐบาลไทย และอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่เป็นค่าจ้าง เงินเพิ่ม และเงินได้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากประเทศญี่ปุ่น ตามความในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับหน่วยงาน A ฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) และตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2499 หน่วยงาน A จึงขอหารือว่า เงินได้ซึ่งเป็นค่าจ้าง เงินเพิ่ม และเงินได้ต่าง ๆ ที่บุคคลทั้งสามได้รับจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับหน่วยงาน A ฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) และตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2499 หรือไม่

แนววินิจฉัย

          เนื่องจากตามข้อ 4 ของหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับหน่วยงาน A ฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ระบุให้เอกสิทธิ์และการอำนวยความสะดวกแก่หัวหน้า รองหัวหน้า และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานฝ่ายฝึกอบรม หน่วยงาน A เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ภายใต้แผนการโคลัมโบและโดยที่ตามคำแปลหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ เอกอัครราชทูตอังกฤษ เรื่อง การยกเว้นภาษีอากรให้แก่ผู้เชี่ยวชาญตามแผนการโคลัมโบ ที่ ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2505 ระบุให้ผู้เชี่ยวชาญตามโครงการร่วมมือดังกล่าว ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือน เงินเพิ่ม และเงินได้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากประเทศของตน ดังนั้น หากผู้เชี่ยวชาญซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานชั่วคราวให้กับศูนย์พัฒนาการประมงฯ ในตำแหน่ง “ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส” “รองเลขาธิการ รองผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม และผู้จัดการโครงการทุนสนับสนุน” และ “ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส และผู้ช่วยผู้จัดการโครงการเงินทุนสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น” ตามลำดับ เป็นตำแหน่งระดับ “เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่” (Senior Staff Member) ของสำนักงานฝ่ายฝึกอบรม หน่วยงาน A แล้ว ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าจ้าง เงินเพิ่ม และเงินได้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากประเทศของตน ตามหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับหน่วยงาน A และตามมาตรา 3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2499

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

8 กรกฎาคม 2562

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร