fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / อากรแสตมป์ กรณีการออกหุ้นกู้ในต่างประเทศ 


อากรแสตมป์ กรณีการออกหุ้นกู้ในต่างประเทศ

วันที่เอกสาร

17 มิถุนายน 2562

เลขที่หนังสือ

กค 0702/4024

เลขตู้

82/40868

ข้อกฎหมาย

มาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร และ มาตรา 124 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          1. อากรแสตมป์ กรณีการออกหุ้นกู้ในต่างประเทศ ธนาคารฯ เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ A มีลูกค้าเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ประสงค์จะออกหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ เช่น หุ้นกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ และหุ้นกู้สกุลเงินเยน เพื่อเสนอขายในประเทศ A การออกหุ้นกู้ดังกล่าวธนาคารฯ จะทำสัญญาต่าง ๆ กับผู้ออกหุ้นกู้ ดังนี้
               1.1สัญญาการเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการหุ้นกู้ ธนาคารฯ จะเลือกทำสัญญาแบบใดแบบหนึ่งดังต่อไปนี้ สำหรับการออกหุ้นกู้แต่ละครั้ง
                    1.1.1สัญญาการบริหารหุ้นกู้ (Agreement with Bond Administrator) ซึ่งธนาคารฯ จะรับดำเนินงานดังต่อไปนี้
                         ก.กระทำการเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ โดยธนาคารฯ จะทำหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ ได้แก่ การดำเนินการใด ๆ เพื่อเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยจากผู้ออกหุ้นกู้ เก็บและรักษาเอกสารหรือข้อตกลงที่เกี่ยวกับการค้ำประกัน เข้าร่วมประชุมกับผู้ถือหุ้นกู้เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบังคับชำระหนี้ รวมถึงจัดทำและรายงานข้อมูลใด ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้
                         ข. กระทำการเป็นตัวแทนของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เพื่อการชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ และดำเนินการต่าง ๆ ต่อศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศ A (AA) ในฐานะตัวแทนการออกหุ้นกู้และตัวแทนการจ่ายเงินตามหุ้นกู้ภายใต้กฎเกณฑ์ของ AA รวมถึงการคำนวณและยืนยันอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ตามอัตราอ้างอิงต่าง ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในตลาดลอนดอน (LIBOR) การดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อและยกเลิกหุ้นกู้ การจัดการและแจ้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลและเงื่อนไขของหุ้นกู้ต่อนายทะเบียนของ AA และการให้คำปรึกษาแก่ผู้ออกหุ้นกู้ ทั้งนี้ ธนาคารฯ จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับงานในส่วนของ ก. และ ข.
                    1.1.2สัญญาตัวแทนทางการเงิน (Fiscal Agency Agreement) ซึ่งธนาคารฯ จะให้บริการในฐานะตัวแทนการออกหุ้นกู้และตัวแทนการชำระหนี้ตามหุ้นกู้ภายใต้กฎเกณฑ์ของ AA รวมถึงการดำเนินการทางทะเบียนกับ AA การคำนวณและยืนยันอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ การจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขหุ้นกู้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ การดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อและยกเลิกหุ้นกู้ การจัดการและแจ้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลและเงื่อนไขของหุ้นกู้ต่อนายทะเบียนของ AA และการให้คำปรึกษาแก่ผู้ออกหุ้นกู้ โดยธนาคารฯ จะได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นตัวแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว
               1.2สัญญาการจองซื้อหุ้นกู้ออกใหม่ทั้งหมด (Bond Purchase Agreement) ซึ่งธนาคารฯ ตกลงจะซื้อหุ้นกู้ทั้งหมดที่ออกโดยผู้ออกหุ้นกู้
               1.21.3สัญญาประกันการจ่ายหนี้หุ้นกู้ (Guarantee Entrustment Agreement) ซึ่งธนาคารฯ ตกลงที่จะร่วมรับผิดชอบกับผู้ออกหุ้นกู้ในการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยไม่มีการจำกัดจำนวน
          2.เนื่องจากสัญญาดังกล่าวข้างต้นจะจัดทำขึ้นในต่างประเทศ ธนาคารฯ จึงขอหารือ ดังนี้
               2.1ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์จากการทำสัญญาต่าง ๆ ดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร
               2.2กรณีที่ได้มีการทำตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ขึ้นในต่างประเทศ เช่น สัญญาแต่งตั้งตัวแทน และสัญญาค้ำประกันหนี้ตามหุ้นกู้ หากมีการนำสำเนาหรือสำเนาที่ได้รับการรับรองโดยสถานทูตไทยในประเทศญี่ปุ่นของตราสารดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย หรือมีการส่งภาพสำเนาตราสารดังกล่าวมาให้ผู้รับในประเทศไทยทางอีเมล จะถือว่าเป็นการนำตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์เข้ามาในประเทศไทยตามมาตรา 111 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
               2.3กรณีที่สัญญาการบริหารหุ้นกู้ (Agreement with Bond Administrator) สัญญาตัวแทนทางการเงิน (Fiscal Agency Agreement) และสัญญาประกันการจ่ายหนี้หุ้นกู้ (Guarantee Entrustment Agreement) ได้ทำขึ้นในต่างประเทศ และผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศไทยเสียอากรแสตมป์เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารตามมาตรา 111 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ทรงตราสารจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากร 5 เท่าของจำนวนอากรแสตมป์ที่ต้องเสียตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องระวางโทษปรับ 500 บาท ตามมาตรา 124 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อตราสาร 1 ฉบับ ถูกต้อง หรือไม่
               2.4กรณีที่มีการทำตราสารใด ๆ ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ขึ้นในต่างประเทศ และธนาคารฯ ได้ส่งตราสารดังกล่าวมายังสำนักงานสาขาของธนาคารฯ ในประเทศไทย เพื่อที่จะให้สาขาส่งต่อไปยังผู้ออกหุ้นกู้ ถือว่าธนาคารฯ เป็นผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศไทยและมีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ตามมาตรา 111 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

แนววินิจฉัย

          1.ในส่วนของสัญญาการบริหารหุ้นกู้ (Agreement with Bond Administrator) และสัญญาตัวแทนทางการเงิน (Fiscal Agency Agreement) เนื่องจากสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นสัญญาซึ่งธนาคารฯ ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จโดยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานนอกเหนือจากการเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ ดังนั้น สัญญาทั้ง 2 ฉบับ จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ และอยู่ในบังคับต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4 จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากร 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
          2.ในส่วนของสัญญาการจองซื้อหุ้นกู้ออกใหม่ (Bond Purchase Agreement) ซึ่งธนาคารฯ ตกลงจะซื้อหุ้นกู้ออกใหม่ทั้งหมดจากผู้ออกหุ้นกู้นั้น สัญญาดังกล่าวไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
          3.ในส่วนของสัญญาโอนใบหุ้นกู้ตามลักษณะแห่งตราสาร 2. โอนใบหุ้นกู้ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์นั้น ไม่ว่าตราสารนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ผู้โอนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามมาตรา 6 (23) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2550
          4.ในส่วนของสัญญาประกันการจ่ายหนี้หุ้นกู้ (Guarantee Entrustment Agreement) ซึ่งธนาคารฯ ตกลงรับผิดร่วมกับผู้ออกหุ้นกู้ในการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้โดยไม่มีการจำกัดจำนวนนั้น สัญญาดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกัน ซึ่งเป็นตราสารที่อยู่ในบังคับต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 17. ค้ำประกัน (ก) สำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ผู้ค้ำประกันมีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ 10 บาท ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
          5.กรณีที่สัญญาการบริหารหุ้นกู้ (Agreement with Bond Administrator) สัญญาตัวแทนทางการเงิน (Fiscal Agency Agreement) และสัญญาประกันการจ่ายหนี้หุ้นกู้ (Guarantee Entrustment Agreement) ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องเสียอากรได้ทำขึ้นในต่างประเทศ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศไทยต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารตามมาตรา 111 แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้ทรงตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสาร ผู้ทรงตราสารจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากร 5 เท่าของจำนวนอากรหรือเป็นเงิน 10 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าตามมาตรา 113 2. (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องระวางโทษปรับ 500 บาท ตามมาตรา 124 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายตราสารแยกกัน
          6.กรณีที่ตราสารที่ต้องเสียอากรได้ทำขึ้นในต่างประเทศ หากมีการนำสำเนาตราสารดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย หรือส่งภาพถ่ายตราสารดังกล่าวมาให้ผู้รับในประเทศไทยทางอีเมล เนื่องจากสำเนาตราสารไม่มีสภาพเป็นต้นฉบับ คู่ฉบับหรือคู่ฉีกของตราสาร ดังนั้น สำเนาตราสารที่นำเข้ามาในประเทศหรือภาพถ่ายตราสารที่ส่งมาให้ผู้รับในประเทศไทยทางอีเมล จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียอากรแสตมป์ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
          7.กรณีที่ตราสารที่ต้องเสียอากรได้ทำขึ้นในต่างประเทศ หากธนาคารฯ ในฐานะคู่สัญญาได้ส่งตราสารดังกล่าวมาให้สำนักงานสาขาของธนาคารฯ ในประเทศไทยเพื่อส่งให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากสำนักงานสาขาของธนาคารฯ ในประเทศไทยเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับธนาคารฯ ถือว่าธนาคารฯ เป็นผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสาร ตามมาตรา 111 แห่งประมวลรัษฎากร

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

18 กรกฎาคม 2562

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร