fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้พึงประเมินที่จะเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น 


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้พึงประเมินที่จะเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น

วันที่เอกสาร

14 กรกฎาคม 2563

เลขที่หนังสือ

กค 0702/4496

เลขตู้

83/40921

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40(1)(2), 48(5), 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

           นาย ก. ได้ทำงานในบริษัท ท. เป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี และในปีภาษี 2557 ได้ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยนาย ก.ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภทที่นายจ้างจ่ายให้เพราะเหตุออกจากงาน 2 ครั้ง คือ ในปีภาษี 2557 เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่นาย ก.เมื่อเกษียณอายุ และในปีภาษี 2561 เป็นเงินที่ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลพิพากษาตามยอมจากการฟ้องคดีแรงงานกรณีบริษัทฯ นายจ้างจ่ายเงินเกษียณไม่ครบตามข้อตกลงสัญญาการจ้างในปี 2557 นาย ก.จึงขอหารือว่า การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2561 นาย ก.มีสิทธินำจำนวนเงินที่ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอม ไปเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ได้หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

                      กรณีนาย ก.ได้ทำงานในบริษัทฯ เป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี และในปีภาษี 2557 ได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยนาย ก.ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภทที่นายจ้างจ่ายให้เพราะเหตุออกจากงาน 2 ครั้ง คือ ในปีภาษี 2557 เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่นาย ก.เมื่อเกษียณอายุ และในปีภาษี 2561 เป็นเงินที่ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลพิพากษาตามยอมจากการฟ้องคดีแรงงานกรณีบริษัทฯ นายจ้างจ่ายเงินไม่ครบจากการเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุ ตามข้อตกลงสัญญาการจ้างในปี 2557 อันเป็นการเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามความหมายของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้ว ถือเป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินจากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้งไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภทเมื่อนาย ก.ได้ใช้สิทธิเลือกนำเงินได้พึงประเมินประเภทที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานมาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2557 แล้ว ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2561 นาย ก.จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอม ไปเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ได้อีก และเนื่องจากเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่นาย ก.ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลพิพากษาตามยอมเป็นเงินที่ได้มาเนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก.จึงต้องนำเงินที่ได้รับดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่ได้รับในระหว่างปีภาษีเพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษี 2561

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

11 สิงหาคม 2563

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร