fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินได้ (สมาชิกประเภท RP) และออกใบกำกับภาษี และใบเสร็จรับเงินแทนผู้รับเงิน (สมาชิกประเภท IdP และ AS) และขออนุมัติยกเว้นการใช้เครื่องบันทึก การเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษี 


ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินได้ (สมาชิกประเภท RP) และออกใบกำกับภาษี และใบเสร็จรับเงินแทนผู้รับเงิน (สมาชิกประเภท IdP และ AS) และขออนุมัติยกเว้นการใช้เครื่องบันทึก การเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษี

วันที่เอกสาร

15 กรกฎาคม 2563

เลขที่หนังสือ

กค 0702/4532

เลขตู้

83/40923

ข้อกฎหมาย

มาตรา 50 ทวิ, 86, 86/4, แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68)

ข้อหารือ

           บริษัท ก จำกัด (บริษัทฯ) เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลให้บริการยืนตัวตนผ่าน Platform แก่สมาชิก 3 ประเภท คือ 1. ประเภทผู้ให้บริการแก่ลูกค้า (RP) 2. ประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และ 3. ประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) โดยสมาชิกทุกประเภทจะเซ็นสัญญากับบริษัทฯ บริษัทฯ จึงอำนวยความสะดวกในด้านการรับชำระและจ่ายค่าธรรมเนียมการบริการบน Platform รวมถึงเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สมาชิกประเภท (RP) จ่ายให้กับบริษัทฯ และกรณีสมาชิกประเภท (RP) จ่ายค่าธรรมเนียมในส่วนของสมาชิกประเภท (IdP) และสมาชิกประเภท (AS) ให้กับบริษัทฯ แต่เนื่องจากสมาชิกที่มาใช้บริการมีเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ จึงมีภาระในการติดตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนั้น บริษัทฯ จึงขออนุมัติเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินได้ สำหรับค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินแทนผู้รับเงินสำหรับสมาชิกประเภท (IdP) และสมาชิกประเภท (AS) อีกทั้งขอยกเว้นการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษี

แนววินิจฉัย

           1. กรณีสมาชิกประเภทผู้ให้บริการแก่ลูกค้า (RP) จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทฯ และกรณีสมาชิกประเภทผู้ให้บริการแก่ลูกค้า (RP) จ่ายค่าธรรมเนียมในส่วนของสมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และสมาชิกประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) ให้กับบริษัทฯ
               1.1 กรณีที่บริษัทฯ ได้รับเงินค่าบริการยืนยันตัวตนผ่าน Platform จากสมาชิกประเภทผู้ให้บริการแก่ลูกค้า (RP) และกรณีสมาชิกประเภทผู้ให้บริการแก่ลูกค้า (RP) จ่ายค่าบริการยืนยันตัวตนแก่สมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และค่าบริการให้ข้อมูลแก่สมาชิกประเภทผู้ให้บริการข้อมูล ที่น่าเชื่อถือ (AS) ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินค่าบริการดังกล่าว มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยให้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
               1.2 กรณีที่บริษัทฯ มีความประสงค์เป็นตัวแทนของสมาชิกประเภทผู้ให้บริการแก่ลูกค้า (RP) เพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนสมาชิก ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการกระทำการแทนตัวการ บริษัทฯ มีสิทธิกระทำได้ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้จ่ายเงินจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้บริษัทฯ กระทำการแทน เป็นลายลักษณ์อักษร
               1.3 กรณีที่บริษัทฯ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินแล้ว กรมสรรพากรผ่อนผันให้ผู้จ่ายเงินไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินแต่บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว และต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เดือนละครั้ง โดยรายละเอียดของรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
               (ก) คำว่า “รายละเอียดรายการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ประจำเดือน ... พ.ศ. ....” ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน
               (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยมีข้อความว่า “ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้”
               (ค) ประเภทเงินได้
               (ง) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีที่หักไว้
               (จ) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
               1.4 เพื่อเป็นการรับรองว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินแล้ว ให้บริษัทฯ ระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงิน หรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี โดยมีข้อความว่า “บริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ ... เป็นจำนวน ... บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป” ซึ่งบริษัทฯ จะต้องจัดให้มีการ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อ ผู้รับมอบอำนาจไว้ในใบเสร็จรับเงิน หรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
               1.5 ให้บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า “บริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงิน” ในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีเงินได้ที่หัก และให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อหรือใบแนบแบบ ภ.ง.ด.53 ด้วย ซึ่งจะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษีตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4)ฯ
               1.6 ให้บริษัทฯ ใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษี ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากรได้
               1.7 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้มีข้อความอย่างน้อยเป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62)ฯ ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ หากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มีข้อความไม่น้อยกว่าที่กำหนดในประกาศอธิบดีฯ ข้างต้น ให้บริษัทฯ ดำเนินการได้โดยบริษัทฯ ต้องแจ้งข้อความว่า “แบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายนี้ ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว โดยหนังสือที่ กค 0702/ ... ลงวันที่ ...” ไว้ท้ายหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย
          2. กรณีเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินแทนผู้รับเงินสำหรับสมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และสมาชิกประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS)
               2.1 กรณีสมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) ได้ให้บริการยืนยันตัวตน แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ และสมาชิกประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) ได้ให้บริการข้อมูลแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และสมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และสมาชิกประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) จะต้องออกใบกำกับภาษีจากการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิด ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้รับบริการ ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร โดยสมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และสมาชิกประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) อาจแต่งตั้งตัวแทนให้ออกใบกำกับภาษีในนามสมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) ได้ ตามมาตรา 86 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68)ฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2538
                2.2 กรณีสมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และสมาชิกประเภท ผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) ทำสัญญาแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนรับชำระเงินและค่าบริการแทน สมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และสมาชิกประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68)ฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2538 กล่าวคือ ในการออกใบกำกับภาษีแทนสมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และสมาชิกประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) ซึ่งเป็นตัวการ บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีที่มีรายการเช่นเดียวกับรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ทุกครั้งที่ผู้รับบริการจากสมาชิกประเภทผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และสมาชิกประเภท ผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) ร้องขอ พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้รับบริการ ทั้งนี้ ตามข้อ 4 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68)ฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2538
           3. กรณีขอยกเว้นการใช้เครื่องบันทีกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษี
           กรณีบริษัทฯ ได้รับแต่งตั้งให้รับชำระเงินค่าบริการและออกใบกำกับภาษีแทนสมาชิกประเภท ผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) และสมาชิกประเภทผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (AS) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ โดยบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีจากเครื่องคอมพิวเตอร์แบบดิจิทัลที่มีการเก็บข้อมูลบนระบบ Cloud Storage ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีต่ออธิบดี ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46)ฯ ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536 แต่อย่างใด

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

14 กันยายน 2563

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร