fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร 


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

วันที่เอกสาร

11 กรกฎาคม 2562

เลขที่หนังสือ

กค 0702/4734

เลขตู้

82/40872

ข้อกฎหมาย

มาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          บริษัท ก. (บริษัทฯ) หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร มีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
           1. บริษัทในเครือ อ. ได้กำหนดอัตราเบี้ยเลี้ยงในการเดินทางเพื่อไปปฏิบัติงานนอกเขตปฏิบัติงานปกติของพนักงานเป็นครั้งคราว โดยมีการแบ่งคำนวณเป็น 2 กรณี คือ
                1.1 กรณีเดินทางไปปฏิบัติงานติดต่อกันเกินกว่า 12 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ให้ได้รับเบี้ยเลี้ยงครั้งละ 400 บาท
                1.2 กรณีเดินทางไปปฏิบัติงานติดต่อกันเกินกว่า 6 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ให้ได้รับเบี้ยเลี้ยงครั้งละ 200 บาท
           2. บริษัทฯ ขอหารือว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

           ค่าเบี้ยเลี้ยงที่พนักงานได้รับจากการไปปฏิบัติงานนอกสถานที่เป็นครั้งคราว ซึ่งพนักงานได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
           อย่างไรก็ดี ในกรณีที่พนักงานได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในลักษณะเหมาจ่าย หากหลักเกณฑ์ การจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดขึ้นโดยสุจริตตามความจำเป็นและสมควร โดยจำนวนเบี้ยเลี้ยงนั้นไม่เกินอัตราสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือต่างประเทศ และตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย ในลักษณะเหมาจ่าย (ซึ่งต้องพิจารณาเทียบเคียงกับอัตราเต็มวันหรืออัตราครึ่งวัน แล้วแต่กรณี) ให้ถือว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงที่ได้จ่ายไปโดยสุจริต ตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น โดยไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์ แต่หากพนักงาน ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราที่เกินกว่าอัตราสูงสุดที่ทางราชการกำหนด และพนักงานไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราดังกล่าว เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งพนักงานนั้นได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

23 สิงหาคม 2562

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร