fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินให้กับเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนา สถาบัน 


สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินให้กับเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนา สถาบัน

วันที่เอกสาร

10 กันยายน 2561

เลขที่หนังสือ

กค 0702/7025

เลขตู้

81/40814

ข้อกฎหมาย

มาตรา 3 (1) และ (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547

ข้อหารือ

          สำนักงานฯ คณะกรรมการอุดมศึกษา หารือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินให้กับเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา (เงินทุนหมุนเวียนฯ) มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
          1. สำนักงานฯ มีทุนหมุนเวียนในกำกับจำนวน 1 ทุน คือ เงินทุนหมุนเวียนฯ ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล
          2. สำนักงานฯ มีการบริหารจัดการตามประกาศและข้อบังคับคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบัน และหมุนเวียนให้สถาบันกู้ยืมตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 1.5 – 2.0 ต่อปี
          3. เงินทุนหมุนเวียนฯ มีรายรับอื่นนอกจาก 2. คือ เงินที่มีผู้บริจาคให้ กรณีผู้ที่ต้องการบริจาคเงินให้กับเงินทุนหมุนเวียนฯ ผู้บริจาคจะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 ได้หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          กรณีการบริจาคเงินเข้าเงินทุนหมุนเวียนฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนการศึกษา ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2548 ผู้บริจาคจึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 3 (1) และ (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 แต่อย่างใด

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

24 พฤศจิกายน 2561

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร