fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการให้พนักงานของบริษัทในเครือกู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด 


ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการให้พนักงานของบริษัทในเครือกู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด

วันที่เอกสาร

28 พฤศจิกายน 2540

เลขที่หนังสือ

กค 0811/16254

เลขตู้

60/26132

ข้อกฎหมาย

ประเด็นปัญหา

ข้อหารือ

บริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจหลายประเภทในรูปของบริษัทในเครือ โดยบริษัทแต่ละบริษัทได้ให้
สวัสดิการแก่พนักงานของตนในลักษณะของการให้กู้ยืมเงินจากบริษัทได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด บริษัทฯ เข้าใจว่าเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4)แห่งประมวลรัษฎากร และ
    1. ในกรณีบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันได้มีการโอนย้ายพนักงานอยู่เป็นประจำโดยเป็นการโอนย้ายทั้งแบบชั่วคราวและแบบประจำซึ่งในการโอนย้ายแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นการโอนย้ายแบบชั่วคราวหรือแบบประจำจะทำให้ความเป็นพนักงานของบริษัทที่ให้กู้ยืมเงินสิ้นสุดลง ในกรณีเช่นนี้ หากสัญญากู้ยืมเงินนั้นยังไม่ครบกำหนดเวลาการใช้เงินคืน และบริษัทเดิมยังคงให้กู้ยืมเงินต่อไป โดยให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำตามเดิมเพราะถือว่าพนักงานนี้ยังคงเป็นพนักงานที่อยู่ในเครือเดียวกัน ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าการให้กู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดดังกล่าวเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีเหตุอันควรหรือไม่
    2. หากได้มีการกำหนดว่าพนักงานคนใดก็ตามหากเข้ามาทำงานในบริษัทใดบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือนี้แล้ว ก็จะมีสิทธิ์กู้ยืมเงินจากบริษัทหลักซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด แม้ว่าจะมิได้เป็นลูกจ้างโดยตรงในบริษัทหลักก็ตามและถ้าหากพนักงานได้ลาออกจากการเป็นพนักงานในกลุ่มบริษัทเหล่านี้แล้ว สัญญาการกู้ยืมเงินตามสัญญาดังกล่าวจะถึงกำหนดการชำระโดยทันที ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าการที่บริษัทแม่ให้พนักงานของบริษัทในเครือกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่
    3. ในกรณีของการให้กู้ยืมเงินแก่พนักงานในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดหากได้มีการสิ้นสุดการว่าจ้างก่อนครบกำหนดของสัญญาการกู้ยืมเงินไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตามเช่น การลาออกไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งไม่ใช่บริษัทในเครือ ในกรณีเช่นนี้ หากบริษัทยังคงให้ลูกจ้างเดิมกู้ยืมเงินต่อไปอีกตามเงื่อนไขเดิมจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาแห่งการกู้ยืมเงิน เช่น 10 ปี เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ จะถือว่าการให้กู้ยืมเงินภายในช่วงระยะเวลาที่ได้สิ้นสุดการจ้างลงจนถึงวันครบกำหนดชำระคืนเงินกู้เป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่
    4. ในการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวข้างต้นนั้น มีกรณีใดบ้างที่บริษัทต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

แนววินิจฉัย

   1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
      1.1 ในกรณีที่บริษัทให้สวัสดิการแก่พนักงานของตนในลักษณะของการให้กู้ยืมเงินจากบริษัทได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด ถือได้ว่าเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
      1.2 กรณีตาม 1. และ 3. เป็นกรณีที่บริษัทให้สวัสดิการแก่พนักงานของตนในลักษณะของการให้กู้ยืมเงินจากบริษัทได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด ต่อมาเมื่อพนักงานโอนย้ายไปยังบริษัทในเครือเดียวกัน หรือลาออกไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งไม่ใช่บริษัทในเครือเดียวกัน เป็นผลทำให้ความเป็นพนักงานของบริษัทได้สิ้นสุดลง หากบริษัทยังคงให้ลูกจ้างเดิมกู้ยืมเงินต่อไปอีกโดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมได้
      1.3 กรณีตาม 2. เป็นกรณีที่บริษัทแม่ให้พนักงานของบริษัทในเครือกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด ถือเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่นเดียวกับ 1.2
    2. กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ
      2.1 กรณีบริษัทมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงานและบริษัทได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการโดยมีดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ให้กู้นั้นตามสมควร บริษัทไม่ต้องนำดอกเบี้ยนั้นมารวมเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.6/2534 เรื่อง ดอกเบี้ยสำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534
      2.2 กรณีที่บริษัทให้พนักงานกู้ยืมเงินโดยไม่มีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดตาม 2.1 หรือกรณีที่บริษัทให้พนักงานของบริษัทในเครือเดียวกันหรือพนักงานของบริษัทอื่นกู้ยืมเงิน ถือเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีที่บริษัทให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ยหรือมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยตามราคาตลาดได้ ตามมาตรา 91/16(6) แห่งประมวลรัษฎากร
      2.3 กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากบริษัทให้กู้ยืมเงินเป็นครั้งคราว มิใช่การประกอบกิจการเป็นปกติธุระ ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/13(2) แห่งประมวลรัษฎากร และตามข้อ 1(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ เรื่องการกำหนดกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535 แต่บริษัทยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

22 พฤษภาคม 2563

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร