ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก
พระราชกำหนด
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
ประกาศกระทรวงการคลัง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำชี้แจงกรมสรรพากร
ข่าวการปรับปรุง
 
 
     
 

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 71/2541

เรื่อง      อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในการปฏิบัติการเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การหักภาษีตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร การออกใบกำกับภาษีและการลงรายการในรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

---------------------------------------------

 

               โดยที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ซึ่งตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวกำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไปในการปฏิบัติการเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การหักภาษีตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร การออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศเฉพาะที่ไม่สามารถคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากรได้ และการลงรายการในรายงานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร

 

               ดังนั้น เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำ สำหรับการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรในกรณีต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

               ข้อ 1  การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร การหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และการหักภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินหรือจำหน่ายเงินกำไรเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จำหน่ายเงินกำไรคำนวณจำนวนภาษีที่ต้องหักและนำส่ง โดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไป ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ตัวอย่างเช่น บริษัทไทยจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) ให้แก่บริษัทต่างประเทศในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2541 ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราอ้างอิง (อัตราขายถัวเฉลี่ย) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ณ วันพุธที่ 27 พฤษภาคม 2541

                        ในกรณีที่จ่ายเงินได้พึงประเมินหรือจำหน่ายเงินกำไรตามวรรคหนึ่งด้วยเช็ค ให้คำนวณจำนวนภาษีที่ต้องหักและนำส่งตามวันที่ที่ลงในเช็ค และให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามวรรคหนึ่ง

 

                ข้อ 2  การออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 มาตรา 86/6 และมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการดังต่อไปนี้ และได้ตกลงราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแสดงมูลค่าของสินค้าหรือของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยเงินตราไทยในใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไปตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากไม่สามารถคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากรได้

                        (1) การขายสินค้าหรือการให้บริการในราชอาณาจักร

                        (2) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ (ส่งออกบริการ)

                        (3) การขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมัน

                        (4) การให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล

                        (5) การให้บริการรับขนคนโดยสารระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ตัวอย่างเช่น

                              (ก) การออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการตาม (1) - (5) ถ้าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในวันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2541 ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราอ้างอิง (อัตราซื้อถัวเฉลี่ย) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ณ วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2541

                              (ข) การออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการตาม (1) - (5) ถ้าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2541 ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราอ้างอิง (อัตราซื้อถัวเฉลี่ย) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ณ วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2541

                        กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ออกใบกำกับภาษีเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศตามมาตรา 86/4 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากรไว้ในใบกำกับภาษีด้วย

 

                ข้อ 3  การออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการดังต่อไปนี้ ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 2

                        (1) การออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าโดยการส่งออก ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ส่งออกมีสิทธิใช้ใบกำกับสินค้าหรืออินวอยซ์ซึ่งผู้ส่งออกได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศเป็นใบกำกับภาษี ถ้าใบกำกับสินค้าหรืออินวอยซ์ได้ออกเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ใบกำกับภาษีในกรณีดังกล่าวจึงแสดงมูลค่าของสินค้าเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศได้

                        (2) การออกใบกำกับภาษีสำหรับการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ผู้ให้บริการมีสิทธิใช้แอร์เวย์บิลหรือเฮ้าส์แอร์เวย์บิลที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนรับขนส่งได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศเป็นใบกำกับภาษี ถ้าแอร์เวย์บิลหรือเฮ้าส์แอร์เวย์บิลได้ออกเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ใบกำกับภาษีในกรณีดังกล่าวจึงแสดงมูลค่าของบริการเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศได้

                       

                ข้อ 4  การลงรายการในรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร

                        (1) การลงรายการในรายงานภาษีขายของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีตามข้อ 2 ต้องลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่จำหน่ายออกไปซึ่งสินค้าหรือบริการนั้น สำหรับการคำนวณมูลค่าของสินค้าหรือของบริการในรายงานภาษีขาย ให้ถือมูลค่าของสินค้าหรือของบริการซึ่งได้คำนวณเป็นหน่วยเงินตราไทยตามใบกำกับภาษี

                        (2) การลงรายการในรายงานภาษีขายของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีตามข้อ 3(1) ต้องลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ชำระอากรขาออก หรือวางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออกก็ให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร โดยให้คำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในรายงานภาษีขาย ดังต่อไปนี้

                              (ก) ถ้าได้รับเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกสินค้าในขณะที่ออกใบกำกับภาษีตามข้อ 3(1) ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร

                              (ข) ถ้ายังไม่ได้รับเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกสินค้าในขณะที่ออกใบกำกับภาษีตามข้อ 3(1) ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราอ้างอิงประจำวัน (อัตราซื้อถัวเฉลี่ย) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไปตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตาม (ก) หรือ (ข) ในเดือนภาษีที่ลงรายงานแล้ว ให้ถือมูลค่าของสินค้าซึ่งได้คำนวณเป็นเงินตราไทยเพื่อการยื่นแบบแสดงรายการภาษีของเดือนภาษีนั้น ถ้าได้รับชำระราคาค่าสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศในเดือนภาษีอื่น หรือได้มีการขายเงินตราต่างประเทศในเดือนภาษีอื่น ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในเดือนภาษีที่ได้รับเงินตราต่างประเทศ หรือในเดือนภาษีที่มีการขายเงินตราต่างประเทศ

                        กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าทั้งในราชอาณาจักรและขายสินค้าโดยการส่งออก ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถจัดทำรายงานภาษีขายแยกต่างหากจากกันได้

                        (3) การลงรายการในรายงานภาษีขายของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยานซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีตามข้อ 3(2) ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับการลงรายการในรายงานภาษีขายของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าตาม (2)

 

                ข้อ 5  กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษีและส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไปแล้ว ต่อมาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยได้เปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เนื่องจากไม่ใช่กรณีการออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/9 และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาตรา 82/9 และมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ผลต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมิใช่มูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยน

 

                ข้อ 6  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

 

สั่ง ณ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2541

 

ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

clear-gif

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > คำสั่งกรมสรรพากร > ป.71/2541