ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก
พระราชกำหนด
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
ประกาศกระทรวงการคลัง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำชี้แจงกรมสรรพากร
ข่าวการปรับปรุง
 
 
     
 

คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. ๑๓๘/๒๕๕๓
เรื่อง การยื่นแบบและการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทอดตลาดทรัพย์สิน
ของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๓/๕ แห่งประมวลรัษฎากร
------------------------------------------------

                             เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับกรณีการยื่นแบบและการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๓/๕ แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

                             ข้อ ๑ ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. ๘๗/๒๕๔๒ เรื่อง การยื่นแบบและการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๓/๕ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒

                             ข้อ ๒ กรณีที่ผู้ทอดตลาดไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือไม่ใช่ส่วนราชการ ได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ผู้ทอดตลาดดังกล่าว มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. ๓๖) ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ต้องเสียต่อกรมสรรพากร ภายใน ๗ วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ขายทอดตลาด
                                    ราคาของทรัพย์สินในการขายทอดตลาด ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่า เป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

                             ข้อ ๓ ผู้ทอดตลาดที่เป็นส่วนราชการ ต้องจัดทำใบเสร็จรับเงินและส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในการขายทอดตลาด พร้อมทั้งจัดทำสำเนาใบเสร็จรับเงินและส่งมอบให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา ๘๓/๕ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
                                    ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินที่ได้รับสำเนาใบเสร็จรับเงินจากส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสำเนาใบเสร็จรับเงินไปลงรายการในรายงานภาษีขายตามมาตรา ๘๗ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. ๓๐) ตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลรัษฎากร
                                    ใบเสร็จรับเงินตามวรรคหนึ่ง เป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา ๗๗/๑ (๒๒) แห่งประมวลรัษฎากร

                             ข้อ ๔ ผู้ทอดตลาดที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน ตามมาตรา ๘๖/๓ แห่งประมวลรัษฎากรและส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดพร้อมทั้งส่งมอบสำเนาใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน                                    ผู้ทอดตลาดที่ไม่ใช่ส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ผู้ดำเนินการในการขายทอดตลาดซึ่งประกอบกิจการเป็นอาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจการขายทอดตลาดการจัดทำใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้แบบพิมพ์ใบกำกับภาษีของผู้ทอดตลาด และต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
                                   (๑) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
                                   (๒) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ทอดตลาดที่จัดทำใบกำกับภาษี
                                   (๓) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งรายการดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
                                   (๔) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อทรัพย์สิน
                                   (๕) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
                                   (๖) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของทรัพย์สิน
                                   (๗) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สิน โดยให้แยกออกจากมูลค่าของทรัพย์สินให้ชัดแจ้ง
                                   (๘) วัน เดือน ปี ที่จัดทำใบกำกับภาษี
                                   ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินซึ่งได้รับสำเนาใบกำกับภาษีจากผู้ทอดตลาดที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่ต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสำเนาใบกำกับภาษีไปลงรายการในรายงานภาษีขายตามมาตรา ๘๗ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. ๓๐) ตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลรัษฎากร
                                   ให้ผู้ทอดตลาดตามวรรคหนึ่ง ส่งมอบต้นฉบับใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน และถ่ายเอกสารใบเสร็จรับเงินดังกล่าว เก็บรักษาไว้พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบได้ทันที

                             ข้อ ๕ กรณีที่ส่วนราชการขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกยึดมาตามกฎหมายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาด ส่วนราชการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน และผู้ซื้อในการขายทอดตลาด ยังคงมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามข้อ ๒ และ ข้อ ๓

                             ข้อ ๖ กรณีที่ส่วนราชการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๕ ไม่รวมถึงการขายของลักลอบหนีศุลกากร หรือการขายทรัพย์สินของส่วนราชการซึ่งตามกฎหมายต้องดำเนินการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นก่อนที่ของหรือทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของแผ่นดิน

                             ข้อ ๗ ระเบียบ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือแนวทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

                             ข้อ ๘ คำสั่งนี้ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓

วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร

clear-gif

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > คำสั่งกรมสรรพากร > ป.138/2553