ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
ประกาศกระทรวงการคลัง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำชี้แจงกรมสรรพากร
ข่าวการปรับปรุง
 
 
     
 

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๐๐)
พ.ศ. ๒๕๕๓
------------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
เป็นปีที่ ๖๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

                       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                       โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์บางกรณี

                       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓(๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
                       มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๐๐) พ.ศ. ๒๕๕๓”

                       มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                       มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๓๑) พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                    ““ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม” หมายความว่า ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งเป็นบุคคล ดังต่อไปนี้
                                    (๑) ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
                                    (๒) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
                                    (๓) ธนาคารแห่งประเทศไทย                                    
                                    (๔) ผู้ซึ่งมอบหมายให้บุคคลตาม (๑) หรือ (๒) เป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์
                                    (๕) ผู้ซึ่งทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์กับบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
      อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
         นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยมีการยืมตราสารหนี้ภาครัฐจากเอกชน เพื่อนำมาใช้เป็นหลักประกันในการดำเนินนโยบายการเงิน และเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มสภาพคล่องหลักทรัพย์ในตลาดรองตราสารหนี้รวมทั้งส่งเสริมการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกรยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ในภาคเอกชนให้แพร่หลายมากขึ้นสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้ซึ่งทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์กับธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับเงินได้จากการทำธุรกรรมอันเนื่องมาจากการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ โดยกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้ซึ่งทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์กับธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ในความหมายของบทนิยามคำว่า “ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๓๑) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถบริหารนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

                       (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๔๗ ก วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓)

clear-gif

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > พระราชกฤษฎีกา > พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 500/2553