ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
ประกาศกระทรวงการคลัง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำชี้แจงกรมสรรพากร
ข่าวการปรับปรุง
 
 
     
 

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๐๑)
พ.ศ. ๒๕๕๓
-------------------------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
เป็นปีที่ ๖๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

                               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                               โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับเงินได้รายรับและการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนหรือรับโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

                               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                               มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๐๑) พ.ศ. ๒๕๕๓”

                               มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                               มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้
                                            “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
                                            “ลูกค้า” หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้บริการจากตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
                                            “ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
                                            “สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
                                            “หลักทรัพย์” หมายความว่า หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
                                            “เงินชดเชยเงินปันผล” หมายความว่า เงินที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจ่ายให้แก่ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือเงินที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจ่ายให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ เนื่องจากมีการจ่ายเงินปันผลของหลักทรัพย์ในระหว่างที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถือหลักทรัพย์นั้นเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี
                                            “เงินชดเชยดอกเบี้ย” หมายความว่า เงินที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจ่ายให้แก่ ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือเงินที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจ่ายให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ เนื่องจากมีการจ่ายดอกเบี้ยของหลักทรัพย์ในระหว่างที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถือหลักทรัพย์นั้นเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี

                               มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่เกิดจากการโอนหรือรับโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กระทำกับตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในกรณีที่ลูกค้าได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง หากลูกค้ามีเงินได้ที่เป็นเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากหลักทรัพย์ดังกล่าว และยอมให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละสิบของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับหรือในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินชดเชยดอกเบี้ยที่ได้รับ แล้วแต่กรณี เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ลูกค้าไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

                               มาตรา ๕ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่เกิดจากการโอนหรือรับโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กระทำกับตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยลูกค้าต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนของหลักทรัพย์ดังกล่าวนั้นไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
                               ในการยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง หากลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย มีเงินได้ที่เป็นเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากหลักทรัพย์ดังกล่าว ต้องยอมให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละสิบของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับหรือในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินชดเชยดอกเบี้ยที่ได้รับ แล้วแต่กรณี

                               มาตรา ๖ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ลูกค้าและสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
โดยตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนของหลักทรัพย์ดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

                               มาตรา ๗ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนของหลักทรัพย์ดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

                               มาตรา ๘ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการรับโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากลูกค้าและสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

                               มาตรา ๙ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการรับโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

                               มาตรา ๑๐ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่
                                            (๑) บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับโอนกลับคืนมาไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งหลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลหรือโครงการจัดการกองทุนรวมเดียวกัน ประเภทรุ่นและชนิดเดียวกันและในจำนวนที่เทียบเท่ากับหลักทรัพย์ที่โอนเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับ
                                           (๒) บริษัทตาม (๑) ที่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงโดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับ ทั้งนี้ บริษัทตาม (๑) และ (๒) ต้องเป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๕ มาตรา ๖และมาตรา ๘ และได้ถือหลักทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หลักทรัพย์นั้นมาจนถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าว และยังคงถือหลักทรัพย์นั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ โดยให้นับระยะเวลาระหว่างที่ได้โอนหลักทรัพย์ดังกล่าวเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจนถึงวันที่ได้รับโอนหลักทรัพย์นั้นรวมด้วย

                               มาตรา ๑๑ ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ลูกค้า ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณีสำหรับรายรับหรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

                               มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
         นายกรัฐมนตรี

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกค้าตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับเงินได้ รายรับ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนหรือรับโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอันจะส่งผลให้ธุรกรรมในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

                               (จ.ร. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๕๔ ก วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓)

clear-gif

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > พระราชกฤษฎีกา > พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 501/2553