ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
ประกาศกระทรวงการคลัง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำชี้แจงกรมสรรพากร
ข่าวการปรับปรุง
 
 
     
 

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา
ของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ๕๓๗)
พ.ศ. ๒๕๕๕
------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
                   โดยที่เป็นการสมควรเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน บางกรณี
                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๖๕ ทวิ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

                   มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ๕๓๗) พ.ศ. ๒๕๕๕”

                   มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔ เอกาทศ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ๑๔๕) พ.ศ. ๒๕๒๗
                   “มาตรา ๔ เอกาทศ การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย และได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
ได้ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและ
ค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละสี่สิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือ ให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้ตามประสงค์ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
                   (๑) เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับสิทธิประโยชน์สนับสนุนจากส่วนราชการ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน
                   (๒) เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
                   (๓) เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๙๗) พ.ศ. ๒๕๓๙
                   (๔) เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากรและ
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ (๑) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวล
รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๙
                   (๕) เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากรและ
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓๒) พ.ศ. ๒๕๕๔”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
      ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
       นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๔ ต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๕๕ ทำให้มีผู้ประกอบการได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าวซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความจำเป็นต้องจัดหาทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการให้ต่อเนื่อง สมควรกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินดังกล่าวที่ได้มาตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

                   (ร.จ. ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๖ ก วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕)

clear-gif

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > พระราชกฤษฎีกา > พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 537/2555