ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก
พระราชกำหนด
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
ประกาศกระทรวงการคลัง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำชี้แจงกรมสรรพากร
ข่าวการปรับปรุง
 
 
     
  Untitled Document

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๘๓)
พ.ศ. ๒๕๕๘  
-----------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ มีนาคมพ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

                           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                           โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำไรสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บางกรณี

                           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                           มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๘๓) พ.ศ. ๒๕๕๘”

                           มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

                           มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓๐) พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๖๔) พ.ศ. ๒๕๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                           “มาตรา ๖ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท

                           (๑) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ แต่ไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
                                กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ แต่ไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

                           (๒) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้
                                 (ก) ร้อยละยี่สิบสามของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ แต่ไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
                                 (ข) ร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ แต่ไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

                           (๓) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้
                                 (ก) ร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกิน สามล้านบาท
                                 (ข) ร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามล้านบาท”


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
      พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
        นายกรัฐมนตรี

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓๐) พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อบรรเทาภาระภาษีและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและจูงใจให้เกิดการลงทุน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

                           (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๒๑ ก วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘)

clear-gif

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > พระราชกฤษฎีกา > พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 583/2558