fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ 


ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ

วันที่เอกสาร

17 มิถุนายน 2563

เลขที่หนังสือ

กค 0702/3874

เลขตู้

83/40919

ข้อกฎหมาย

มาตรา 11 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561

ข้อหารือ

          บริษัทฯ ได้รับอนุมัติเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561 สำหรับการประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2577ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพนักงานที่มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับ IBC ที่มีเฉพาะการให้บริการด้านการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือ จำนวน 5 คน ตามมาตรา 11 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561บริษัทฯ จะขยายขอบเขตการให้บริการโดยจะให้บริการสนับสนุนแก่วิสาหกิจในเครือ แต่เนื่องด้วยจำนวนธุรกรรมด้านบริการยังไม่มากพอ บริษัทฯ จะมีพนักงานที่มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับ IBC ไม่ถึง 10 คน กรณีบริษัทฯ ให้บริการสนับสนุนและให้บริการด้านการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือ และมีพนักงานที่มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับ IBC ไม่ถึง 10 คน โดยจะไม่นำรายได้และรายจ่ายจากการให้บริการสนับสนุนแก่บริษัทในเครือ มารวมคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายของกิจการ IBC จะถือว่าบริษัทฯ มีคุณสมบัติตามมาตรา 11 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          1. กรณีบริษัทได้รับอนุมัติเป็น IBC สำหรับการประกอบกิจการเฉพาะการให้บริการด้านการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือ หากบริษัทฯ ประสงค์จะขอเพิ่มประเภทกิจการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561 บริษัทฯ ต้องยื่นคำขออนุมัติเพิ่มประเภทกิจการตามแบบ ศ.ก.ร.1 ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามข้อ 7 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 13) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะของศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2562
          2. หากบริษัทฯ ยื่นคำขออนุมัติเพิ่มประเภทกิจการตามแบบ ศ.ก.ร.1 ต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อประกอบกิจการให้บริการสนับสนุนและให้บริการด้านการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือ ตาม 1. และได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว บริษัทฯ ต้องมีพนักงานที่มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับ IBC โดยทำงานประจำ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน ตามมาตรา 11 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561 และหากบริษัทฯ มีพนักงานไม่ครบจำนวนดังกล่าว ถือว่าบริษัทฯ ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 11 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561 และจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561
          3. หากบริษัทฯ ไม่ได้ยื่นคำขออนุมัติเพิ่มประเภทกิจการตาม 1. บริษัทฯ จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561 สำหรับกิจการให้บริการสนับสนุนแก่บริษัทในเครือ ดังนั้น รายได้และรายจ่ายจากการให้บริการสนับสนุนแก่บริษัทในเครือจะไม่ถือเป็นรายได้และรายจ่ายของ IBC

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

17 กรกฎาคม 2563

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร