fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผลที่ได้รับจากนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่เสียภาษีแบบ Tax Consolidated Group 


ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผลที่ได้รับจากนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่เสียภาษีแบบ Tax Consolidated Group

วันที่เอกสาร

9 สิงหาคม 2561

เลขที่หนังสือ

กค 0702/6284

เลขตู้

81/40748

ข้อกฎหมาย

พระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

ข้อหารือ

           ตามหนังสือที่อ้างถึงบริษัท A. บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผลที่ได้รับจากนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่เสียภาษีแบบ Tax Consolidated Group โดยมีรายละเอียดตามที่แจ้งมาสรุปได้ดังนี้
           1. บริษัทฯ . ถือหุ้นสามัญจำนวน ร้อยละ 100 ของบริษัท B. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ S.
           2. บริษัท B. ถือหุ้นร้อยละ 100 ของบริษัท C. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ S. และถือหุ้นร้อยละ 100 ของบริษัท D ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ S.
           3. บริษัท B.บริษัท C. และบริษัท D. ดำเนินการโดยมีผลกำไรหรือขาดทุนของแต่ละบริษัทตามกฎหมายของประเทศ S. โดยมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 30 แต่ในหลักการเสียภาษีของประเทศ S เป็นการเสียภาษีในแบบ Tax Consolidation Group โดยการรวมผลกำไรหรือขาดทุนของบริษัท B. บริษัท C. และบริษัท D. มารวมคำนวณและเสียภาษีรวมในนามของบริษัท B. ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง
           ขอทราบว่า กรณีเงินปันผลที่บริษัท B. จ่ายให้แก่บริษัท A จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ. 2548 หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

           กรณีบริษัท ฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัท B. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ S. แม้บริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทนั้น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล แต่หากเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับดังกล่าวมิได้มาจากกำไรสุทธิเฉพาะในส่วนของบริษัท B. ที่มีการเสียภาษีในประเทศ S.ซึ่งมีอัตราภาษีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิแล้ว บริษัทฯ ย่อมไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลดังกล่าว ตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ. 2548

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

30 ตุลาคม 2561

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร