fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินสำรองเบี้ยประกันภัย 


ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินสำรองเบี้ยประกันภัย

วันที่เอกสาร

3 กันยายน 2561

เลขที่หนังสือ

กค 0702/6867

เลขตู้

81/40787

ข้อกฎหมาย

มาตรา 65 ตรี (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          1. บริษัทฯ เป็นสาขาของบริษัท อ. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย
          2. บริษัทฯ คำนวณเงินสำรองทางบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีของไทย (THGAAP) โดยใช้วิธี เบี้ยประกันภัยสุทธิ (Net Premium Valuation หรือ NPV) ซึ่งเป็นวิธีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป วิธี NPVได้ถูกกำหนดให้ใช้โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
          3. บริษัทฯ เข้าใจว่า ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ มีสิทธิ หักรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 65 ของเบี้ยประกันภัยสุทธิในแต่ละรอบบัญชี โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงินสำรองทางบัญชี ส่งผลให้เงินสำรองทางภาษีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีอาจสูงกว่า ต่ำกว่าหรือเท่ากับจำนวนเงินสำรองทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                          ปี                      1           2           3           4
          เบี้ยประกันภัยสุทธิที่ได้รับ  10,000  10,000  10,000  10,000
          เงินสำรองทางบัญชี           7,500     4,000    8,000    3,500
          เงินสำรองทางภาษี             6,500      6,500    6,500    6,500

แนววินิจฉัย

          1. เงินสำรองตามมาตรา 65 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร หมายถึง เงินสำรองในทางบัญชีที่บริษัทได้กันไว้เผื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ซึ่งเงินสำรองดังกล่าวต้องห้ามไม่ให้ลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เว้นแต่กรณีเงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยและเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ตรี (1) (ก) (ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีบริษัทฯ ได้กันเงินสำรองเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันชีวิตในทางบัญชีต่ำกว่าร้อยละ 65 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัย ซึ่งเอาประกันภัยต่อออกแล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำเงินสำรองตามจำนวนที่กันไว้จริงทางบัญชี ไปรวมคำนวณ เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ทั้งจำนวน แต่หากบริษัทฯ ได้กันเงินสำรองเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันชีวิตในทางบัญชีสูงกว่าร้อยละ 65 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัยซึ่งเอาประกันภัยต่อออกแล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำเงินสำรองทางบัญชีตามจำนวนที่กันไว้จริงมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่เกินร้อยละ 65 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัยซึ่งเอาประกันภัยต่อออกแล้ว สำหรับเงินสำรองทางบัญชีในส่วนที่เกิน ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

24 พฤศจิกายน 2561

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร