fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กรณีรายได้และรายจ่ายประเภทดอกเบี้ย 


ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กรณีรายได้และรายจ่ายประเภทดอกเบี้ย

วันที่เอกสาร

19 พฤศจิกายน 2540

เลขที่หนังสือ

กค 0811/15626

เลขตู้

60/26063

ข้อกฎหมาย

ประเด็นปัญหา

ข้อหารือ

บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในกิจการปิโตรเลียม แต่เนื่องจากเงินที่กู้มี
จำนวนมาก บริษัทฯ จึงบริหารเงินให้เกิดความคล่องตัว และประโยชน์สูงสุด โดยนำเงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้ในกิจการไปฝากสถาบันการเงินในรูปของการฝากออมทรัพย์และฝากประจำตามความความเหมาะสมและนำไปให้บริษัทในเครือกู้ยืมโดยมีการคิดดอกเบี้ยต่อกัน ดังนี้
    1. ในกรณีที่บริษัทฯ นำเงินกู้ไปฝากธนาคารในลักษณะของการฝากประจำ และกรณีที่บริษัทฯนำเงินกู้ไปให้บริษัทในเครือกู้ยืม นั้น ดอกเบี้ยเงินฝากประจำและดอกเบี้ยที่ได้รับจากบริษัทในเครือ ถือเป็นรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม และต้องนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรถูกต้องหรือไม่ และบริษัทฯ สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้จำนวนที่นำไปฝากประจำหรือนำไปปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือ มาถือเป็นรายจ่ายได้ตามประมวลรัษฎากร ได้ถูกต้องหรือไม่
    2. ในกรณีที่บริษัทฯ นำเงินได้จากกิจการปิโตรเลียมของบริษัทฯ หรือเงินทุนที่ได้จากการเพิ่มทุน ไปฝากกับสถาบันการเงินในลักษณะของการฝากประจำ หรือนำไปให้บริษัทในเครือกู้ยืมดอกเบี้ยเงินฝากประจำและดอกเบี้ยที่ได้รับจากบริษัทในเครือ นั้น ถือเป็นรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม และต้องนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากรเช่นกัน ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย

   1. กรณีที่บริษัทฯ นำเงินกู้ไปฝากสถาบันการเงินในลักษณะของการฝากประจำหรือนำไปให้บริษัทในเครือ (ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการปิโตรเลียมหรือไม่ก็ตาม) กู้ยืม ดอกเบี้ยเงินฝากประจำและดอกเบี้ยที่ได้รับจากบริษัทในเครือ ถือเป็นเงินได้ที่ขาดตอนจากกิจการปิโตรเลียมแล้ว จึงไม่ถือเป็นเงินได้อื่นใดที่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมตามมาตรา 22(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และบริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำดอกเบี้ยดังกล่าวไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ มีสิทธินำดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้จำนวนที่นำไปฝากประจำ หรือให้บริษัทในเครือกู้ยืมมาถือเป็นรายจ่ายตามประมวลรัษฎากรได้
    2. กรณีที่บริษัทฯ นำเงินได้จากกิจการปิโตรเลียมของบริษัทฯ หรือเงินทุนที่ได้จากการเพิ่มทุนไปฝากสถาบันการเงินในลักษณะของการฝากประจำ หรือให้บริษัทในเครือกู้ยืมดอกเบี้ยเงินฝากประจำและดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับ 1.

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

22 พฤษภาคม 2563

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร