fbpx

หน้าหลัก / ข้อหารือสรรพากร / ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 


ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

วันที่เอกสาร

23 ธันวาคม 2540

เลขที่หนังสือ

กค 0811/17501

เลขตู้

60/26240

ข้อกฎหมาย

ประเด็นปัญหา

ข้อหารือ

บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ ส่งขายภายในประเทศ เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 และบริษัทฯ ทำการประกอบการผลิต ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2538 โดยบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการผลิตพวงมาลัยรถยนต์ ชิ้นส่วนภายในและภายนอกรถยนต์ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 7 ปี
  ในปี 2538 และปี 2539 บริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งในส่วนที่ได้รับการส่งเสริมฯ และใน
ส่วนที่ไม่ได้รับการส่งเสริมฯ โดยมีผลประกอบการ ดังนี้

ปี

กิจการส่วนที่ได้รับส่งเสริมฯ

กิจการส่วนที่ไม่ได้รับส่งเสริมฯ

กำไร (ขาดทุน) สุทธิรวม

กำไรสุทธิ

ขาดทุนสุทธิ

กำไรสุทธิ

ขาดทุนสุทธิ

2538

-

(26,715,745.93)

3,667,645.63

-

(23,048,100.30)

2539

11,088,610.93

-

25,258,015.09

-

36,346,626.02


จากรายละเอียดข้างต้น บริษัทฯ ได้คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการนำผลขาดทุนสะสมยกมาจากปี
2538 (23,048,100.30) มาหักออกจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมฯ ในปี 2539
จำนวน 25,258,015.09 แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงหารือว่าการคำนวณ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประจำปี 2539 ดังกล่าวเป็นวิธีการคำนวณที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง ควรมี
การคำนวณอย่างไร นั้น

แนววินิจฉัย

1. ในกรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน แต่ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นำกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมารวมเข้าด้วยกัน กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ต้องปฏิบัติดังนี้
    1.1 ในปี 2538 บริษัทฯ มีสิทธิ์นำผลขาดทุนจำนวน 26,715,745.93 บาท ของกิจการส่วนที่ได้รับการส่งเสริม ไปหักจากกำไรจำนวน 3,667,645.63 บาท ของกิจการส่วนที่ไม่ได้รับการส่งเสริมได้ ซึ่งจะมีผลขาดทุนสุทธิรวม 23,048,100.30 บาท บริษัทฯ จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2538 ตามข้อ 4.2(ก) แห่งประกาศกรมสรรพากร เรื่องการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
    1.2 ในปี 2539 บริษัทฯ มีสิทธิ์นำผลขาดทุนสะสมของปี 2538 จำนวน 23,048,100.30 บาท ตาม 1.1 มาหักออกจากกำไรสุทธิส่วนที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจำนวน 25,258,015.09 บาท ในปี 2539 ซึ่งจะมีผลกำไรสุทธิที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2539 จำนวน 2,209,914.79 บาท โดยไม่จำเป็นต้องนำไปหักออกจากกำไรสุทธิส่วนที่ได้รับการส่งเสริมจำนวน 11,088,610.93 บาท ก่อนแต่อย่างใด ตามข้อ 4.2(ข) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 35/2540 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไปหักภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2540
2. สำหรับขาดทุนของกิจการส่วนที่ได้รับการส่งเสริมในปี 2538 จำนวน 26,715,745.93 บาท บริษัทฯ จะนำไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 35/2540 ฯ ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2540 อีกไม่ได้ เนื่องจากบริษัทฯ ได้ใช้สิทธินำผลขาดทุนดังกล่าวไปหักออกจากกำไรของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมในปี 2538 และปี 2539 จนหมดทั้งจำนวนแล้ว

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

22 พฤษภาคม 2563

Tag :
ข้อหารือกรมสรรพากร