fbpx

การพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้า


หลักการทั่วไป

เมื่อพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะและลักษณะต้องห้ามแล้ว ลำดับต่อมาคือ การพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้า กับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อน ซึ่งผู้ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อนเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนก่อน ตามหลัก “First to File” หากมีบุคคลใด (โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบกัน) นำเครื่องหมายที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันมายื่นขอจดทะเบียนภายหลัง นายทะเบียนก็จะมีคำสั่งตามมาตรา 20 หรือมาตรา 13 แล้วแต่กรณี

Trademark Cover - การพิจารณาความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายการค้า

มาตราที่เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบความเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่น ดังนี้

1) มาตรา 20 เครื่องหมายมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อน ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้เป็นรายแรก และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนรายหลังรอการพิจารณาดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อน ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ยื่นไว้เป็นรายแรกไม่ได้รับการจดทะเบียน ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้เป็นรายถัดไป และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนรายนั้นและรายอื่นทราบโดยไม่ชักช้า

2) มาตรา 13 เครื่องหมายมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่จดทะเบียนแล้ว ห้ามนายทะเบียนรับจดทะเบียน

3) มาตรา 27 กรณีเครื่องหมายมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาตรา 13 หรือมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แต่นายทะเบียนเห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียน นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันดังกล่าวให้แก่เจ้าของหลายคนก็ได้

4) มาตรา 51/1 กรณีเครื่องหมายมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของเจ้าของหลายราย เช่น ผู้โอน ผู้รับโอน หรือผู้รับมรดก ตามมาตรา 13 หรือมาตรา 20 หากได้รับความยินยอมเป็นหนังสือให้ถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียนได้

การพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้นเป็นปัญหากฎหมาย

คำว่า "เหมือน" หมายถึง เครื่องหมายมีลักษณะตรงกัน

คำว่า "คล้าย" หมายถึง เครื่องหมายมีลักษณะใกล้เคียงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

โดยพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้า ทั้งสำเนียงเสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใดประกอบกันด้วย ดังนี้

1) พิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายทั้งเครื่องหมาย มิใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้นโดยจะต้องไม่มีสาระสำคัญที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่น ดังนี้

         (1) พิจารณาส่วนประกอบหลักหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าเมื่อส่วนประกอบหลักหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันแล้ว แม้ส่วนปลีกย่อยจะแตกต่างกัน ก็ถือว่าคล้ายกัน

     - เครื่องหมายรูป พิจารณาจากรูปภาพของเครื่องหมาย
     - เครื่องหมายคำ พิจารณาจากตัวอักษรหรือพยัญชนะที่ประกอบขึ้นเป็นคำนั้น ๆอาจใช้การเทียบเสียงเรียกขานคำดังกล่าวประกอบด้วยก็ได้

         (2) คำเดียวกันแต่เขียนต่างกัน ตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก หรือตัวเขียน ถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกัน

ตัวอย่าง

RONOMA คล้าย ronoma

Zebra คล้าย ZEBRA คล้าย

ตัวอย่าง - ความเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้า ZEBRA

2) พิจารณาเสียงเรียกขานการเทียบเสียงเรียกขานสามารถใช้พิจารณาความเหมือนคล้ายได้ โดยอาจใช้เหตุผลนี้เหตุผลเดียว หรือใช้ประกอบเหตุผลอื่นก็ได้

ตัวอย่าง

“DIOR” คล้าย “ดิออร์” เนื่องจาก มีเสียงเรียกขานคล้ายกัน

3) พิจารณารายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนการตรวจสอบความเหมือนหรือคล้าย จะทำการตรวจค้นเครื่องหมายจากฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ เครื่องหมายที่ไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่อยู่ในขอบเขตของการตรวจค้นดังกล่าว

วิธีการตรวจค้นเครื่องหมายการค้า ดังนี้

    1) เครื่องหมายรูปภาพ ใช้การตรวจค้นตามรหัสบรรยายภาพระบบ Vienna Classification

    2) เครื่องหมายคำ ตรวจค้นได้ 4 วิธี คือ
                (1) อักษรแรก - เสียงท้าย
                (2) คำเหมือนคล้าย
                (3) อักษรแรก - เสียงท้ายอื่น (สำหรับสินค้ายา)
                (4) เสียงพ้องแต่ละพยางค์

    3) เครื่องหมายเสียง ตรวจค้นได้ 2 วิธี คือ

                (1) การฟังจากสารบบ ตามประเภทของเสียง ได้แก่ เสียงคน เสียงสัตว์ เสียงดนตรี และเสียงอื่น ๆเช่น เสียงอิเล็กทรอนิกส์ เสียงธรรมชาติ เป็นต้น ทั้งนี้ เครื่องหมายเสียงอาจประกอบด้วยเสียงมากกว่า 1 ประเภทก็ได้

                (2) ในกรณีเป็นเสียงอ่านของคำ ให้ตรวจสอบกับสารบบคำด้วย เช่น เสียงรักคุณเท่าฟ้า ให้ตรวจสอบกับสารบบคำ “รักคุณเท่าฟ้า” เป็นต้น

แนวทางการพิจารณา

1) พิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายทั้งเครื่องหมาย มิใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยจะต้องไม่มีสาระสำคัญที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่น และหรือพิจารณาเสียงเรียกขานร่วมด้วย

ตัวอย่างกรณีคล้าย

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย 1

เครื่องหมายทั้งสองประกอบด้วยเส้นแถบสามเส้นในแนวเฉียงไปทางขวาที่มีความหนาใกล้เคียงกัน จึงมีลักษณะของเครื่องหมายคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการได้

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย 2

เครื่องหมายทั้งสองประกอบด้วยเส้นแถบสามเส้นในแนวเฉียงไปทางขวาที่มีความหนาใกล้เคียงกัน จึงมีลักษณะของเครื่องหมายคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ หรือ แหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการได้

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย 3

เครื่องหมายทั้งสองมีคำว่า STARWORLD เป็นคำเดียวกัน แม้เครื่องหมายที่ 1 จะมีรูปประดิษฐ์ประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายที่ 2 จะมีรูปดาวในลักษณะประดิษฐ์อยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าประกอบอยู่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขาน เครื่องหมายทั้งสองเรียกขานได้ว่า สตาร์เวิล์ดเช่นเดียวกัน ดังนั้นเครื่องหมายทั้งสองจึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของบริการได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 1462//2551)

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย 4

เครื่องหมายทั้งสองประกอบด้วยอักษร MDS วางในรูปวงรีเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกัน และเรียกขานได้ว่า เอ็มดีเอส เช่นเดียวกัน เครื่องหมายทั้งสองจึงคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการได้

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย 5

เครื่องหมายทั้งสองเป็นอักษร BF และเลขอารบิก 2000 ที่นำมาวางเรียงต่อในลักษณะเช่นเดียวกัน รูปลักษณะเครื่องหมายทั้งสองจึงคล้ายกัน และเครื่องหมายทั้งสองเรียกขานได้ว่า บีเอฟ สองพัน หรือ บีเอฟ ทูเทาซันด์ เช่นเดียวกัน เครื่องหมายทั้งสองจึงคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย 6

แม้คำว่า STRIDE เป็นอักษรโรมัน ส่วนคำว่า สไตรฟ์ เป็นอักษรไทย และเครื่องหมายทั้งสองจะเขียนด้วยอักษรในภาษาที่แตกต่างกันก็ตาม แต่เครื่องหมายทั้งสองเรียกขานได้ว่า สไตรด์ และ สไตรฟ์ นับว่าเครื่องหมายทั้งสองมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายทั้งสองจึงคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 169/2551)

ตัวอย่างกรณีไม่คล้าย

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย ไม่คล้าย 1

เนื่องจากเครื่องหมาย ประกอบด้วยรูปข้างยกขาหนึ่งข้างและทำท่าชูงวงโดยปลายงวงถือดอกบัว และมีคำว่า เครื่องหมายแห่งคุณภาพ ประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมาย เป็นการวาดลายเส้นให้มีลักษณะช้างชูงวงแต่เพียงอย่างเดียว รูปลักษณะเครื่องหมายทั้งสองจึงแตกต่างกัน จนไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่1185/2561)

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย ไม่คล้าย 2

แม้จะมีภาคส่วนของรูปนกอินทรี เช่นเดียวกันก็ตาม แต่ลักษณะการประดิษฐ์ของรูปนกอินทรียังแตกต่างกัน นอกจากนี้เครื่องหมายที่ 1 ยังมีภาคส่วนคำว่า IN C ประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายที่ 2 มีคำว่า KINGJO ประกอบอยู่ด้วย รูปลักษณะเครื่องหมายทั้งสองจึงแตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายที่ 1 เรียกขานได้ว่า ตรานกอินทรี ส่วนเครื่องหมายที่ 2 เรียกขานได้ว่า ตรานกอินทรีคิงโจ หรือ คิงโจ นับว่าเครื่องหมายทั้งสองมีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน จนไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 82/2551)

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย ไม่คล้าย 3

เครื่องหมายที่ 1 ประกอบด้วยอักษร G L I D E R ส่วนเครื่องหมายที่ 2 ประกอบด้วยอักษร G R I D U R รูปลักษณะของเครื่องหมายจึงแตกต่างกัน และเมื่อพิจารณาเสียงเรียกขานเครื่องหมายที่ 1 เรียกขานได้ว่า ไกลเดอร์ ส่วนเครื่องหมายที่ 2 เรียกขานได้ว่า กริเดอร์ นับว่า เครื่องหมายทั้งสองมีเสียงเรียกขานที่แตกต่างกัน (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 1183/2561)

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย ไม่คล้าย 4

เครื่องหมายที่ 1 ประกอบด้วยอักษรโรมัน อักษรภาษาจีน และมีรูปลวดลายประดิษฐ์วงกลมจำนวน 4 รูปจัดเรียงในลักษณะสองชั้น อยู่ด้านบนของอักษร n ประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายที่ 2 เป็นอักษรโรมันแต่เพียงอย่างเดียว รูปลักษณะเครื่องหมายทั้งสองจึงแตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงเสียงเรียกขาน เครื่องหมายที่ 1 เรียกขานได้ว่า ซันคีน เสิ้งฉี่ ส่วนเครื่องหมายที่ 2 เรียกขานได้ว่า ซันคลีน นับว่าเครื่องหมายทั้งสองมีเสียงเรียกขานแตกต่างกันจนไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 1184/2561)

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย ไม่คล้าย 5

เนื่องจากเครื่องหมายที่ 1 เป็นอักษรโรมัน K ตัวพิมพ์ใหญ่วางซ้อนกับอักษรโรมัน G ตัวพิมพ์ใหญ่ขนาดเท่ากัน ส่วนเครื่องหมายที่ 2 เป็นอักษรโรมัน k ตัวพิมพ์เล็กวางซ้อนอยู่ในอักษรโรมัน G ตัวพิมพ์ใหญ่ โดยให้ส่วนปลายของอักษร k ที่มีลักษณะเป็นเส้นตรงทับซ้อนกับอักษร G และส่วนหัวของอักษร G ลากเป็นเส้นตรงไปทางด้านซ้ายไปถึงตัวอักษร k และมีคำว่า KATANA GOLF ประกอบอยู่ด้วย รูปลักษณะของเครื่องหมายทั้งสองจึงแตกต่างกัน จนไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ หรือ แหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 1949/2561)

เครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นใบฉลาก พิจารณาดังนี้

เครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นใบฉลาก พิจารณาดังนี้

       1. การวางรูปรอยประดิษฐ์ของเครื่องหมายมีความเหมือนหรือคล้ายกัน แม้ภาคส่วนสาระสำคัญจะแตกต่างกันบ้าง ก็ถือว่าเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกัน
       2. ภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเหมือนหรือคล้ายกัน แม้ส่วนประกอบอื่น ๆ จะต่างกันบ้าง ก็ถือว่าเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกัน

เครื่องหมายเสียง

- พิจารณาจากการฟังเสียงเทียบกับเสียง เสียงเทียบกับคำของเครื่องหมายเสียงเทียบกับคำบรรยายเสียง ตัวโน๊ตดนตรี สิ่งบันทึกเสียง เช่น เครื่องหมายเสียงคำว่า “มามี่โปโก” คล้ายกับเครื่องหมายคำ “มามี่โปโก”

เครื่องหมายที่มีคำที่สละสิทธิตามมาตรา 17

หากเครื่องหมายมีการสละสิทธิ ภาคส่วนนั้นย่อมไม่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย ซึ่งต้องพิจารณด้วยว่าภาพรวม ลักษณะเด่น และการเรียกขานคำในเครื่องหมาย มีความเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่

 ตัวอย่าง

 เมื่อใช้กับสินค้าจำพวก 32 สละสิทธิคำว่า BANGKOK DRINKING WATER แล้ว

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย ไม่คล้าย 6

เนื่องจากแม้จะมีคำว่า BANGKOK DRINKING WATER เช่นเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างสละสิทธิคำดังกล่าวไว้แล้ว คำดังกล่าวจึงมิใช่สำระสำคัญของเครื่องหมาย เมื่อเครื่องหมายยังมีรูปเด็กคล้ายกามเทพประกอบอยู่เป็นส่วนหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งยังมีรูปลายเส้นเจดีย์และเสาชิงช้าประกอบเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายอยู่ด้วย รูปลักษณะเครื่องหมายทั้งสองจึงแตกต่างกัน ไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 368/2564)

ตัวอย่าง - กรณีเครื่องหมายการค้าเหมือนคล้าย 7

เนื่องจากเครื่องหมายทั้งสองเครื่องหมาย มีเสียงเรียกขานที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเป็นคำเดียวกัน คือคำว่า “RHINO” แม้เครื่องหมายหนึ่งจะประกอบด้วยรูปประดิษฐ์ตัวแรดอยู่ในรูปวงรี และคำว่า PREMIUM BOXING EQUIPMENTS ประกอบอยู่ด้วยแต่ก็ได้สละสิทธิคำดังกล่าวไว้แล้ว คำดังกล่าวจึงมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย ส่วนเครื่องหมาย RHINO แม้จะมีรูปประดิษฐ์ประกอบอยู่ด้วย แต่เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขาน เครื่องหมายทั้งสองอาจเรียกขานได้ว่า ไรโน เช่นเดียวกัน เครื่องหมายทั้งสองจึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

2) เมื่อพิจารณาว่าเครื่องหมายมีความเหมือนหรือคล้ายกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ให้พิจารณาด้วยว่า
สินค้าหรือบริการนั้นมีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่

(1) กลุ่มของผู้บริโภคผู้ใช้สินค้า เช่น สินค้าที่ใช้ส่วนตัวและใช้ภายในบ้านที่อยู่อาศัยงานเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

(2) กลุ่มสินค้าว่าต้องอยู่กายใต้การดูแลของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม เกษตรกรรม สินค้าที่ใช้ในครัวเรือน สินค้าที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของช่างเทคนิคหรือผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญฉพาะด้าน ยารักษาเฉพาะโรคซึ่งต้องมีใบสั่งยาของแพทย์

(3) วัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น สินค้าเป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ต้องใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

(4) สถานที่วางจำหน่ายสินค้า เช่น ร้านค้าโดยทั่วไป ห้างสรรพสินค้าทั่วไป การสั่งซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายสินค้านั้นโดยเฉพาะ

(5) มูลค่าของสินค้า เช่น สินค้าที่มีราคาแพงผู้ใช้สินค้าย่อมต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนในการเลือกชื้อสินค้าให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งาน ผู้บริโภคมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้า

ตัวอย่าง

1) เมื่อรายการสินค้าของผู้ขอเป็นสารเคมีสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสีและอุตสาหกรรมผลิตสารเคลือบต่าง ๆ แต่สินค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วเป็นสินค้ากาวใช้ในอุตสาหกรรม แม้จะเป็นสินค้าสารเคมีเหมือนกันแต่ก็มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานและอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันชัดเจน ผู้ใช้จึงเป็นคนละกลุ่มกัน นอกจากนี้สถานที่วางจำหน่ายสินค้าสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสีและสารเคลือบต่าง ๆไม่ได้มีจำหน่ายอยู่ตามร้านค้าโดยทั่วไปแต่เป็นการสั่งซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายสินค้านั้นโดยเฉพาะ แต่สินค้ากาวอุตสาหกรรมจะมีจำหน่ายอยู่ในร้านค้าที่จำหน่ายกาวหรืออุปกรณ์สำหรับการยึดติดสิ่งของโดยทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีราคาแพงผู้ใช้สินค้าย่อมต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนในการเลือกซื้อสินค้าให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งานด้วย จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 43/2560 (คำขอเลขที่ 860679))

2) เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของผู้ขอใช้กับสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้า ผ้าโสร่ง ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วใช้กับสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้าถุงมือแบบแยกนิ้วทำด้วยผ้าปนหนัง PVC แม้เป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน แต่รายการสินค้ามีวัตถุประสงค์สำหรับการใช้งานที่แตกต่างกันชัดเจนจึงไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน จนไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 976/2561 (คำขอเลขที่ 946849))

3) เนื่องจากเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายเป็นยารักษาเฉพาะโรคซึ่งต้องมีใบสั่งยาของแพทย์ จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่713/2553 (คำขอเลขที่ 713134))

4) เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของผู้ขอใช้กับสินค้าตัวป้องกันกระแทกโช๊คอัพรถยนต์ ส่วนเครื่องหมายการค้า ที่จดทะเบียนแล้วใช้กับสินค้า รถจักรยานยนต์ แม้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 ซึ่งเป็นจำพวกเดียวกันก็ตาม แต่รายการสินค้าของทั้งสองฝ่ายมีราคาแพงผู้บริโภคมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้า จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 300/2553 (คำขอเลขที่ 700962))

5) เมื่อรายการสินค้าของผู้ขอเป็นสินค้าเครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่สินค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วเป็นสินค้าสว่านไฟฟ้า แม้จะเป็นสินค้าอยู่ในกลุ่มเดียวกันแต่ก็มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานและรูปลักษณะของตัวสินค้าที่แตกต่างกันชัดเจน ผู้ใช้จึงเป็นคนละกลุ่มกัน นอกจากนี้สถานที่วางจำหน่ายสินค้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม่ได้มีจำหน่ายอยู่ตามร้านค้าโดยทั่วไปแต่เป็นการสั่งซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายสินค้านั้นโดยเฉพาะ แต่สินค้าสว่านไฟฟ้าจะมีจำหน่ายอยู่ในร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าเครื่องมือช่างโดยทั่วไปอยู่แล้วซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีราคาแพงผู้ใช้สินค้าย่อมต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนในการเลือกซื้อสินค้าให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งานด้วย จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ (คำวินิจฉัยคกก.ที่ 41/2560 (คำขอเลขที่ 831279))

แนวทางการพิจารณา

กรณีเปรียบเทียบรายการบริการที่ระบุไว้กว้างกับรายการสินค้าที่ระบุเป็นอย่าง ๆ (แคบ) จะถือว่ารายการบริการและรายการสินค้าไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน เช่น

ตัวอย่างที่ 1 บริการจำพวก 35 รายการบริการ บริการนำสินค้าหลายชนิดมารวมกันเพื่อความสะดวกของผู้ซื้อ บริการจัดการขายสินค้า บริการขายสินค้าออนไลน์ กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อเชิ๊ตกางเกงขายาว ถือว่าบริการกับสินค้าไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน

ตัวอย่างที่ 2 บริการจำพวก 43 รายการบริการ ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม กับสินค้าจำพวก 30สินค้า ชา กาแฟ โกโก้ จำพวก 32 สินค้า เครื่องดื่ม น้ำดื่ม จำพวก 33 สินค้า สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลั่นถือว่าบริการกับสินค้าไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน

ตัวอย่างที่ 3 บริการจำพวก 44 รายการบริการ สถานเสริมความงาม กับสินค้าจำพวก 3 สินค้า ครีมบำรุงผิว ถือว่าบริการกับสินค้าไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน

3) กรณีชื่อเจ้าของเครื่องหมายไม่ตรงกัน

เนื่องจากสะกดผิด แต่นายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเจ้าของเดียวกัน ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่ง (ตค. 5 ข้อ 7) ให้ผู้ขอส่งหนังสือชี้แจงว่าเป็นเจ้าของเดียวกันหรือไม่หากเป็นเจ้าของเดียวกัน ให้ดำเนินการแก้ไขชื่อเจ้าของให้ถูกต้องตรงกัน หากผู้ขอยื่นแบบ ก.20 (ไม่ยื่นแบบ ก.06) ชี้แจงว่าเป็นเจ้าของเดียวกันอย่างเดียว แต่ไม่ดำเนินการแก้ไข ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอแก้ไขชื่อเจ้าของให้ตรงกันตามมาตรา 11

มาตรา 27

กรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 13 หรือมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณีถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้านั้นเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียน นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันดังกล่าวให้แก่เจ้าของหลายคนก็ได้ โดยจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเห็นสมควรกำหนดด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วทราบโดยไม่ชักช้า

การรับจดทะเบียนตามมาตรา 27 ให้นายทะเบียนพิจารณา ดังนี้
1) เป็นเครื่องหมายซึ่งเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตหรือไม่ พิจารณาจากหลักเกณฑ์ ดังนี้
             (1) ต่างฝ่ายต่างได้ใช้เครื่องหมายกับสินค้าของตนในระยะเวลาใกล้เคียงกัน หรือได้ใช้มาก่อน ที่อีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับการจดทะเบียน
             (2) ไม่มีเจตนาลอกเลียนแบบเครื่องหมายของผู้อื่น ทั้งนี้ อาจพิจารณาได้จากรูปลักษณะของเครื่องหมาย เช่น คำประดิษฐ์ ภาพประดิษฐ์ ฟอนต์ตัวอักษร ว่าเหมือนกันหรือไม่
             (3) ไม่ทราบว่ามีผู้ใช้เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของตน

2) มีพฤติการณ์พิเศษที่สมควรรับจดทะเบียนได้ อาจพิจารณาได้ดังนี้
              (1) เป็นเครื่องหมายที่ขาดต่ออายุ แต่เจ้าของเครื่องหมายยังคงมีการใช้เครื่องหมายนั้นมาโดยตลอด หรือ
              (2) ได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าจนทำให้เครื่องหมายมีความแพร่หลายในประเทศไทย และไม่เคยถูกอีกฝ่ายหนึ่งโต้แย้งสิทธิแต่อย่างใด หรือ
              (3) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจำพวกสินค้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ทำให้ปรากฎในภายหลังว่ารายการสินค้าอาจมีลักษณะอย่างเดียวกัน
              (4) มีหนังสือยินยอมให้จดทะเบียนได้ จากผู้โอน ผู้รับโอน หรือผู้รับมรดก ทุกรายตามมาตรา 51/1 วรรคสอง
              (5) หากมีผลคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลให้รับจดทะเบียนได้

3) ทั้งนี้ นายทะเบียนจะพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและเหตุแห่งพฤติการณ์ที่ผู้ขอจดทะเบียนกล่าวอ้าง ตลอดจนเอกสาร พยานหลักฐาน เป็นกรณี ๆ ไป เช่น
              (1) ประวัติความเป็นมาของผู้ขอ เช่น เริ่มก่อตั้ง/เริ่มใช้เครื่องหมายเมื่อปี รูปเครื่องหมาย
              (2) หลักฐานการใช้โดยบริษัท ผู้ขอหรือผู้อื่น
              (3) หลักฐานแสดงการใช้ (จำพวก/รายการสินค้า/บริการ) ตรงตามที่ยื่นขอจดทะเบียนหรือไม่
              (4) รูปเครื่องหมายที่นำไปใช้ตรงกับที่ยื่นขอจดทะเบียนหรือไม่
              (5) ใบเสร็จรับเงิน (เดือน/ปี ยอดจำหน่ายรวม)
              (6) ใบส่งของ/ใบกำกับภาษี/ใบสั่งซื้อสินค้า (เดือน/ปี ยอดจำหน่ายรวม)
              (7) หลักฐานแสดงรายได้/ค่าราคา/จากการจำหน่าย (เดือน/ปี ยอดจำหน่ายรวม)
              (8) ใบเสร็จรับเงินคำโฆษณาสินค้า (เดือน/ปี ยอดจำหน่ายรวม)
              (9) สำเนางบดุลของบริษัท/รายงานการสอบบัญชี/กำไรขาดทุนสะสมที่แสดงรายได้จากการขาย (ปี จำนวนบาท)
              (10) หลักฐานการโฆษณาในสื่อต่าง ( เช่น โบร์ชัวร์/แผ่นพับ/นิตยสาร/หนังสือ/เอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/อื่น ๆ (เดือน/ปี) รูปเครื่องหมายตรงกับที่ยื่นขอจดทะเบียนหรือไม่
               (11) สำเนาหนังสือแสดงการจดทะเบียนในต่างประเทศ
               (12) สำเนาใบอนุญาตตั้งโรงงาน (ระบุปี...)
               (13) ตัวอย่างสินค้า
               (14) สำเนาคำพิพากษาศาล
               (15) หลักฐานอื่น ๆ

4) กรณีนายทะเบียนเห็นว่าไม่หลักฐานเพียงพอให้มีคำสั่งเหมือนหรือคล้ายตามปกติ เช่น
- รูปเครื่องหมายไม่ตรงตามที่ยื่นขอจดทะเบียน
- ยอดจำหน่าย/การโฆษณาไม่เพียงพอ
- เป็นการใช้โดยผู้อื่น
- ใช้กับสินค้า/บริการไม่ตรงตามที่ยื่นขอจดทะเบียน

5) กรณีนายทะเบียนเห็นว่าหลักฐานเพียงพอ ให้รับจดทะเบียนโดยกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีใช้หรือขอบเขตแห่งการใช้เครื่องหมายนั้นก็ได้

6) วิธีการรับจดทะเบียนมาตรา 27 ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วทราบ

มาตรา 51/1

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ได้บัญญัติยกเลิก มาตรา 14 เรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายชุด (เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันและเป็นของเจ้าของรายเดียวกัน)และมาตรา 50 เรื่องการโอนเครื่องหมายการค้าที่จะต้องโอนไปทั้งชุด (ต้องโอนทุกเครื่องหมายและทุกรายการสินค้า) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โดยได้บัญญัติหลักการใหม่ให้สามารถโอนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว สำหรับสินค้าทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2559 ซึ่งจะทำให้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียนแล้ว อาจโอนเครื่องหมายในคำขอเดียวกันนั้นบางรายการสินค้าให้บุคคลอื่นเป็นเจ้าของได้

มาตรา 51/1 จึงได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อมุ่งคุ้มครองเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ใด้โอนรายการสินค้าบางรายการในเครื่องหมายนั้นให้กับบุคคลอื่น และบุคคลผู้รับโอนเครื่องหมายการค้าบางรายการจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในภายหลังจากกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิม (ผู้โอน) หรือบุคคลผู้รับโอนเครื่องหมายการค้านั้น จะไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายอื่นที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายที่ได้โอนไปหรือที่ได้รับโอนมานั้น โดยที่เจ้าของเครื่องหมายเดิมหรือผู้รับโอนเครื่องหมายนั้น(แล้วแต่กรณี) ไม่ได้รับทราบและให้ความยินยอมไว้ด้วย

ดังนั้น บุคคลผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันตามมาตรา 51/1 จึงต้องมีความสัมพันธ์ในฐานะผู้โอน ผู้รับโอน หรือผู้รับมรดกสิทธิกันมาก่อนที่จะมีการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใหม่ (ที่เหมือนหรือคล้ายกันกับเครื่องหมายเดิม)หรือเกิดขึ้นมาก่อนที่จะไปทำการรับโอน หรือรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าอื่น (ที่เหมือนหรือคล้ายกันกับเครื่องหมายเดิม)

สำหรับในกรณีที่มีการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว และต่อมานายทะเบียนได้มีคำสั่งปฏิเสธการรับจดทะเบียนพราะเป็นเครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นหากมีการโอนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นสำหรับสินค้าบางส่วนหรือมีการโอนเครื่องหมายการค้านั้นบางคำขอภายหลัง กรณีเช่นนี้จะไม่อยู่ในเจตนารมณ์ของมาตรานี้

หลักการ คือ กำหนดให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันให้กับเจ้าของหลายรายได้ ในกรณีที่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้โอน ผู้รับโอน หรือ ผู้รับมรดกสิทธิ์ในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งได้มีการโอน รับโอนหรือรับมรดกกันก่อนหน้าวันยื่นคำขอจดทะเบียน แล้วแต่กรณี

การพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันตามมาตรา 51/1 ดังนี้

1) นายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายของผู้ขอเหมือนหรือคล้ายตามมาตรา 13 หรือมาตรา 20 แล้วแต่กรณี กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้โอน ได้รับโอน หรือได้รับมรดก

2) ผู้ขอมีสถานะเป็น (1) ผู้โอน (2) ผู้รับโอน หรือ (3) ผู้รับมรดก ตามมาตรา 48 หรือมาตรา 49 แล้วแต่กรณี หรือไม่

3) ให้พิจารณาว่าวันที่มีการโอน รับโอนหรือรับมรดกในแบบ ก.04 จะต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นในวันที่ผู้ขอยื่นคำขอใหม่

4) ผู้ขอมีหนังสือยินยอมให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยหนังสือยินยอมต้องแสดง รายละเอียดอย่างน้อยดังนี้

                    (1) รายละเอียดเกี่ยวกับการเป็นผู้โอน ผู้รับโอน หรือผู้รับมรดกสิทธิ์ในคำขอจดทะเบียนหากมีการโอนหรือรับมรดกสิทธิกันหลายทอด เอกสารจะต้องมีความเชื่อมโยงไม่ขาดสาย
                    (2) รายละเอียดเกี่ยวกับวันที่โอนหรือรับมรดก โดยต้องโอนหรือรับมรดก ก่อนวันที่ในแบบ ก.01 ของคำขอใหม่
                    (3) หนังสือยินยอมให้ใช้ต้นฉบับ กรณียื่นพร้อมกันหลายคำขอ ให้ส่งต้นฉบับในคำขอแรกส่วนคำขออื่นให้ส่งภาพถ่ายเอกสารโดยระบุว่าต้นฉบับอยู่ในคำขอเลขที่ใด

5) ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันได้ โดยถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษ

แนวทางการพิจารณา

1) กรณีผู้ขอไม่ยื่นหนังสือยินยอมพร้อมกับแบบ ก.01 เมื่อนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่า เหมือนหรือคล้ายตามมาตรา 13 หรือมาตรา 20 แล้วแต่กรณี กับเครื่องหมายการค้าที่ผู้นั้นได้โอน ได้รับโอน หรือ ได้รับมรดก ให้นายทะเบียนสั่งมาตรา 13 หรือมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ตามปกติ

2) เมื่อผู้ขอไม่ยื่นหนังสือยินยอม และนายทะเบียนมีคำสั่งมีคำสั่งตาม มาตรา 13 หรือมาตรา 20
แล้วแต่กรณี ผู้ขอจะมีสิทธิ 2 ทาง ดังนี้

            (1) ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียน ซึ่งหากผู้ขอใช้สิทธิอุทธรณ์แล้วก็จะใช้สิทธิตาม 51/1 ในชั้นนายทะเบียนอีกไม่ได้

            (2) ขอใช้สิทธิตามมาตรา 51/1 โดยผู้ขอจะต้องส่งหนังสือยินยอมให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้จากผู้โอน ผู้รับโอน หรือผู้รับมรดกทุกราย ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์ กรณีนี้ให้นายทะเบียนยกเลิกคำสั่งมาตรา 13 หรือมาตรา 20 แล้วแต่กรณี หากไม่ติดประเด็นอื่นก็ให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 27โดยมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วทราบ

3) หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่า เหมือนหรือคล้ายตามมาตรา 13 หรือมาตรา 20 แล้วแต่กรณีกับเครื่องหมายการค้าที่ผู้นั้นได้โอน ได้รับโอน หรือได้รับมรดก และผู้ขอมีหนังสือยินยอมให้จดทะเบียน ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนครื่องหมายได้ โดยให้ถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนจะรับ
จุดทะเบียนได้ทั้งนี้ ไม่จำต้องพิจารณาถึงจำพวกที่มีการโอน หากนายทะเบียนเห็นว่า เหมือนหรือคล้ายตามมาตรา 13 หรือมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ก็เพียงพอแล้ว

4) นายทะเบียนอาจมีคำสั่งให้ผู้ขอชี้แจงเกี่ยวกับการโอน รับโอนหรือรับมรดก และแนบเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการเป็นผู้โอน ผู้รับโอน หรือผู้รับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนประกอบได้ โดยสั่ง ตค. 9 ข้อ 10 หากมีการโอนหรือรับมรดกสิทธิกันหลายทอดจะต้องมีความเชื่อมโยงไม่ขาดสาย พร้อมแนบสำเนาเอกสารการโอนเพื่อยื่นยัน โดยใช้แบบ ก. 20 หากไม่ส่งคำชี้แจง ให้มีคำสั่งเหมือนหรือคล้ายตามปกติ


Tags

รับจดเครื่องหมายการค้า, สัญลักษณ์ ลิขสิทธิ์, เครื่องหมาย ตราสินค้า, เครื่องหมาย บริการ, เครื่องหมายการค้า, เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์, เครื่องหมายการค้า โลโก้, trademark, เช็คเครื่องหมายการค้า, จดชื่อแบรนด์, จดทะเบียน trademark, จดทะเบียน โลโก้, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า, จดลิขสิทธิ์ โลโก้, จดเครื่องหมายการค้า, จดแบรนด์สินค้า


ก้าวสำคัญของธุรกิจคุณ ... ให้เราดูแลที่  Thai Tax Law