fbpx

คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า


การตรวจสอบแบบพิมพ์คำขอและรายการในคำขอตามมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 ประกอบกฎกระทรวงฯ เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบรายละเอียดในแบบพิมพ์คำขอรายการในคำขอ การแนบสำเนาเอกสารประกอบคำขอ หนังสือมอบอำนาจ อากรแสตมป์ การรับรองลายมือชื่อ การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน

Trademark Cover - คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

1. การพิจารณาคำขอจดทะเบียน (แบบพิมพ์คำขอ)

1.1 รายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของ/ตัวแทน

1.1.1 กรณีผู้ขอจดทะเบียนป็นบุคคลธรรมดา

การระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ ที่อยู่ ดังนี้

1) ชื่อเจ้าของ/ตัวแทน ต้องระบุคำนำหน้านามในคำขอจดทะเบียน เว้นแต่ กรณีเป็นคำขอมาตริด ให้ยึดข้อมูลตามสำนักระหว่างประเทศ

2) กรณีเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปให้ระบุคำนำหน้าชื่อตามบัตรประซาชน เช่น นาย นาง นางสาว เด็กชาย เด็กหญิง ด.ช. ด.ญ. เป็นต้น

3) กรณีใช้ตำแหน่งทางวิชาการ ยศ บรรดาศักดิ์เป็นคำนำหน้านาม
            (1) กรณีเป็นบุคคลไทย เช่น ศ. รศ. ผศ. ร.ต.อ. ว่าที่ร้อยตรี หม่อมเจ้า หม่อม ราชวงศ์ ท่านผู้หญิง คุณหญิง ต้องยื่นเอกสารแสดงวิทยฐานะหรือเอกสารแสดงยศบรรดาศักดิ์ประกอบ กับคำขอด้วย เช่น บัตรประชาชน บัตรข้าราชการ หนังสือเดินทาง หรือบัตรอื่นที่ราชการออกให้
            (2) กรณีเป็นบุคคลต่างประเทศ เช่น Prof. Dame Lord Lady Sir ให้ถือตามที่ผู้ขอได้ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนที่มีการรับรองโดยโนตารีปับลิก เช่น หนังสือมอบอำนาจที่มีโนตารีปับลิกรับรองแล้ว

4) คำนำหน้านามของพระภิกษุสามเณร ให้ระบุดังนี้
            (1) คำนำหน้านามของพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ให้ระบุสมณศักดิ์และระบุชื่อตัวและชื่อสกุลของพระภิกษุประกอบ โดยวงเล็บต่อท้าย เช่น สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัยธมฺมธโช) เป็นต้น
            (2) คำนำหน้านามของพระภิกษุที่ไม่เคยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ให้ระบุคำว่า “พระ” เป็นคำนำหน้านามตามด้วยชื่อตัวและชื่อสกุลของพระภิกษุ เช่น พระชื่อตัว ชื่อสกุล
            (3) คำนำหน้านามของสามเณร ให้ระบุคำว่า “สามเณร” เป็นคำนำหน้านาม ตามด้วยชื่อตัวและชื่อสกุลของสามเณร เช่น สามเณรชื่อตัว ชื่อสกุล
            (4) คำนำหน้านามในศาสนาอื่น เช่น Rev. (บาทหลวง) ต้องยื่นเอกสารแสดงวิทยฐานะหรือเอกสารแสดงยศบรรดาศักดิ์ประกอบคำขอด้วย เช่น บัตรประชาชน บัตรข้าราชการ หนังสือเดินทาง หรือบัตรอื่นที่ราชการออกให้

5) กรณีที่ไม่ถือเป็นคำนำหน้านาม เช่น
            (1) คำว่า ด็อกเตอร์ หรืออักษรย่อ ดร. เพราะเป็นคำที่แสดงคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก ไม่ใช่ตำแหน่งทางวิชาการ
            (2) คำนำหน้าของผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น นายแพทย์ นายสัตวแพทย์ เภสัชกร
            (3) คำนำหน้านามที่แสดงสถานภาพ เช่น นักโทษชาย นักโทษหญิง
            (4) คำอื่น ๆ เช่น มาดาม (Madam) ซินญอร์ (Signor)

6) กรณีผู้ขอเป็นผู้เยาว์ (ผู้มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์นับถึงวันที่ยื่นคำขอ)
            (1) กรณีผู้เยาว์ยื่นคำขอด้วยตัวเองให้ระบุ เช่น เด็กชายภูภูมิ เก่งกาจ โดยผู้เยาว์ต้องเป็นผู้ลงนามในคำขอเอง ทั้งนี้ ให้ส่งหนังสือยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมด้วย
            (2) กรณีผู้แทนโดยชอบธรรมดำเนินการแทนผู้เยาว์ให้ระบุ เช่น เด็กชายภูภูมิ เก่งกาจ โดย นายสิทธิศักดิ์ เก่งกาจ ผู้แทนโดยชอบธรรม กรณีนี้ผู้แทนโดยชอบธรรมต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อในแบบฟอร์ม ทั้งนี้ ไม่ต้องส่งหนังสือยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

7) กรณีกลุ่มแม่บ้านให้ระบุ เช่น นางสาวญาญ่า สวยสุด (ตัวแทนกลุ่มแม่บ้าน) หรือ (ประธานกลุ่มแม่บ้าน) เป็นต้น และให้ส่งรายงานแสดงว่ามีฐานะเป็นบุคคลและข้อความที่แสดงว่าตกลงให้ผู้ใดเป็นผู้ยื่นคำขอ

8) กรณีวิสาหกิจชุมชน (บุคคลธรรมดา) ให้ระบุชื่อของประธานวิสาหกิจเป็นชื่อผู้ขอจดทะเบียน สามารถระบุต่อท้ายชื่อของผู้ขอว่า โดยวิสาหกิจชุมชน เช่น นายณเดช รูปหล่อ (โดยประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างหล่อ) เป็นต้น และให้ส่งหนังสือแสดงการเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนมาด้วย เช่น รายงานการประชุม เป็นต้น

9) รายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของ/ตัวแทน เช่น ชื่อ ที่อยู่ คำนำหน้านาม ให้ใช้ข้อมูลที่ระบุในแบบ ก.01 หากข้อมูลในแบบ ก.01 หนังสือมอบอำนาจ หรือบัตรประชาชนไม่ตรงกัน ให้อ้างอิงข้อมูลจากบัตรประชาชน

1.1.2 กรณีผู้ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

1) ชื่อนิติบุคคลให้ระบุชื่อตามที่จดทะเบียนไว้ และให้ระบุที่ตั้งของสำนักงานใหญ่เป็นที่อยู่

2) นิติบุคคลไทยต้องระบุนิติฐานะมาพร้อมกันด้วยโดยระบุเป็นคำเต็ม เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท...จำกัดบริษัท...จำกัด (มหาชน) สหกรณ์ สมาคม มูลนิธิ รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลในลักษณะอื่น ฯลฯ

3) นิติบุคคลต่างประเทศต้องระบุคำอ่านของชื่อและนิติฐานะ (ทับศัพท์) เช่น “Facebook Co., Ltd.” ให้ระบุเป็น “เฟซบุ๊ค โค., แอลทีดี.” “KAWASAKI KABUSHIKI KAISHA” ให้ระบุเป็น “คาวาซากิ คาบูซิกิ ไกชา” “Knauf Interfer SE” ให้ระบุเป็น “คนุฟ อินเทอร์เฟอร์ เอสอี” “Groth & Co KB” ให้ระบุเป็น “โกรท แอนด์ โค เคบี”

4) รายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของ/ตัวแทน เช่น ชื่อ ที่อยู่ ให้ใช้ข้อมูลที่ระบุในแบบ ก.01 หากข้อมูลในแบบ ก.01 หนังสือมอบอำนาจ หรือหนังสือรับรองบริษัท ไม่ตรงกัน ให้อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือรับรองบริษัท

แนวทางการพิจารณา

1) กรณีชื่อเจ้าของหรือตัวแทนไม่ได้ระบุคำนำหน้านามในคำขอ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้พิจารณาจากเอกสารหลักฐานที่ผู้ขอนำส่ง

2) กรณีระบุคำอื่นที่ไม่ใช่คำนำหน้านามในคำขอ เช่น ดร. ให้นายทะเบียนมีคำสั่งแก้ไขชื่อเป็น นาย นาง นางสาว เป็นคำนำหน้านามแทน

3) กรณีนิติบุคคลไทย หากผู้ขอระบุนิติฐานะเป็นคำย่อ เช่น หจก. บจ. บมจ. ไม่ต้องสั่งให้ผู้ขอแก้ไขเป็นคำเต็ม (โดยให้ผู้บันทึกข้อมูลเข้าระบบบันทึกเป็นคำเต็ม) หากการระบุนิติฐานะในแบบ ก.01 เป็นคำย่อหรือคำเต็มซึ่งไม่ตรงกับหนังสือมอบอำนาจ ไม่ต้องสั่งให้ผู้ขอแก้ไขให้ตรงกัน

4) กรณีระบุชื่อนิติบุคคล เช่น “บริษัท กอไผ่ จำกัด โดยนายเดช กอไผ่” หรือ “เฟซบุ๊ค โค., แอลทีดี นิติบุคคลประเทศอเมริกา” หรือ “โซนี่ คาบูชิกิ ไกชา (ทั้งทำการค้าในนาม โซนี่ คอร์ปอเรชั่น)” ไม่ต้องมีคำสั่งให้ผู้ขอตัดคำว่า “โดยนายเดช กอไผ่” หรือ “นิติบุคคลประเทศอเมริกา” หรือ (ทั้งทำการค้าในนาม โซนี่ คอร์ปอเรชั่น) ออก

5) กรณีนิติบุคคลต่งประเทศ หากผู้ขอระบุชื่อเจ้าของในแบบ ก.01 ไม่ตรงกับหนังสือมอบอำนาจ เช่น ก.01 ระบุเป็น
บริษัท “เฟสบุค จำกัด” หนังสือมอบอำนาจระบุว่า “Facebook Co., Ltd.” ให้มีคำสั่งให้แก้ไขโดยระบุชื่อผู้ขอเป็นคำทับศัพท์
“เฟซบุ๊ค โค., แอลทีดี.” ให้ตรงกับหนังสือมอบอำนาจฉบับภาษาอังกฤษ

6) กรณีรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของ/ตัวแทนในแบบ ก.01 หนังสือมอบอำนาจ บัตรประชาชน หรือหนังสือรับรองนิติบุคคล ไม่ตรงกัน ให้มีคำสั่งให้แก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของ/ตัวแทนในแบบ ก.01 และหนังสือมอบอำนาจ ให้ตรงกัน โดยอ้างอิงข้อมูลจากบัตรประชาชนหรือหนังสือรับรองบริษัท

7) กรณีรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของ/ตัวแทนในแบบ ก.01 บัตรประชาชน หรือหนังสือรับรองนิติบุคคล ตรงกัน แต่หนังสือมอบอำนาจสะกดชื่อเจ้าของ/ตัวแทนผิด หรือพิมพ์คำตกหล่น (เล็กน้อย) แต่เชื่อได้ว่าเป็นบุคคลเดียวกันไม่ต้องสั่งแก้ไขให้ตรงกัน

8) กรณีรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของ/ตัวแทนในแบบ ก.01 ระบุไม่ถูกต้อง ให้มีคำสั่งให้แก้ไข เช่น ผู้ขอเป็นบริษัทจำกัด แต่ระบุเพียง "บริษัท กอไผ่" ไม่มีคำว่าจำกัด ให้มีคำสั่งให้แก้ไขเป็น "บริษัท กอไผ่ จำกัด" ให้ถูกต้อง

9) กรณีไม่ระบุสถานที่ติดต่อในคำขอ หากเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลไทยให้ถือว่าสถานที่ติดต่อคือที่อยู่เจ้าของ หากเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต่างประเทศให้ถือว่าสถานที่ติดต่อคือที่อยู่ตัวแทน

1.2 การแนบสำเนาเอกสารประกอบคำขอ

1.2.1 กรณียื่นคำขอจดทะเบียนด้วยตนเอง

1) กรณีบุคคลธรรมดา ใช้บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่ ข้อมูลจากกรมการปกครอง
            (1) กรณีผู้ขอเป็นผู้เยาว์ (ผู้มีอายุไม่เกิน 18 ปี บริบูรณ์นับถึงวันที่ยื่นคำขอ)
                        - กรณีผู้เยาว์ยื่นคำขอด้วยตัวเอง ให้ส่งหนังสือยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
                        - กรณีผู้แทนโดยชอบธรรมดำเนินการแทนผู้เยาว์ ไม่ต้องส่งหนังสือยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
            (2) กรณีกลุ่มแม่บ้าน ให้ส่งรายงานแสดงว่ามีฐานะเป็นบุคคลและข้อความที่แสดงว่าตกลงให้ผู้ใดเป็นผู้ยื่นคำขอ
            (3) กรณีวิสาหกิจชุมชน (บุคคลธรรมดา) ให้ส่งหนังสือแสดงการเป็นประธานวิสาหกิจชุมชน มาด้วย เช่น รายงานการประชุม เป็นต้น
            (4) กรณีพระภิกษุสามเณร ให้ใช้บัตรประจำตัวภิกษุสามเณร หรือบัตรประจำตัวประชาชน

2) กรณีบุคคลธรรมดาต่างประเทศ ใช้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่ เป็นต้น

3) กรณีนิติบุคคลไทย ใช้สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันที่ออกหนังสือรับรองนั้น หรือข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

4) กรณีนิติบุคคลต่างประเทศ
            (1) หนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศ
            (2) กรณีได้ส่งเอกสารตามกฎกระทรวงข้อ 5 โดยมีการระบุข้อความรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศไว้ด้วยแล้ว ผู้ขอไม่ต้องส่งหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศ นำเกณฑ์ข้อ 1.5 การรับรองลายมือชื่อมาใช้ประกอบการพิจารณา

5) กรณี สหกรณ์ สมาคม มูลนิธิ วิสาหกิจชุมชน หรือนิติบุคคลในลักษณะอื่น ฯลฯ ที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ให้ส่งหนังสือรับรองการจดทะเบียนด้วย หากไม่มี ให้มีคำสั่ง ตค. 5 ข้อ 7 ให้ส่งเอกสารแสดงความเป็นนิติบุคคล เช่นหนังสือรับรองนิติบุคคล ตัวอย่าง กรณีผู้จัดการโรงเรียน (คำขอเลขที่ 170133996) กรณีสมาคม (คำขอเลขที่ 200120642)

6) กรณี หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ให้ส่งหลักฐานแสดงการเป็นนิติบุคคล เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา เป็นต้น และให้ส่งหนังสือแสดงว่าเป็นผู้มีอำนาจลงนามแทนหน่วยงานนั้นด้วย เช่น คำสั่งแต่งตั้งการเป็นอธิบดี ผู้จัดการโรงเรียน เป็นต้น

1.2.2 กรณียื่นคำขอจดทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Fling (Signed by DIP-CA)

1) เจ้าของ (ทำ CA) ยื่นคำขอเอง โดยไม่แนบสำเนาบัตร ให้นายทะเบียนแจ้งให้ฝ่ายรับคำขอชั้น 3 ดึงข้อมูลจากกรมการปกครองหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แล้วแต่กรณี

2) ตัวแทน (ทำ CA) ยื่นคำขอ ต้องแนบหนังสือมอบอำนาจพร้อมด้วยสำเนาบัตรของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจทุกคน ถ้าตัวแทนไม่แนบสำเนาบัตรหรือแนบมาแต่ขาดของคนใดคนหนึ่ง ให้นายทะเบียนแจ้งให้ฝ่ายรับคำขอชั้น 3 ดึงข้อมูลจากกรมการปกครองหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แล้วแต่กรณี

3) กรณีเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขนิติบุคคลของเจ้าของหรือตัวแทนที่ระบุในแบบ ก.01 ไม่ถูกต้อง ให้มีคำสั่งให้เจ้าของหรือตัวแทนแก้ไขโดยระบุเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขนิติบุคคลให้ถูกต้อง โดยใช้แบบ ก.06 แก้ไข

แนวทางการพิจารณา

1) กรณีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไทย ไม่เรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลทุกกรณี

2) บัตรประจำตัวอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่ บัตรข้าราชการ

3) บัตรที่ไม่ถือว่าเป็นบัตรประจำตัวอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ เช่น ตั๋วทนาย ใบขับขี่สากลที่ออกโดยต่างประเทศ

4) กรณีบุคคลธรรมดาต่างประเทศ
            (1) กรณีไม่ส่งใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้ แม้ว่าจะมีการรับรองโนตารีปับลิกแล้วก็ตาม ให้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาหนังสือเดินทาง
            (2) กรณีบุคคลธรรมดาต่างประเทศยื่นคำขอเอง หากผู้ขอระบุที่อยู่ในประเทศไทยในคำขอแล้วก็ไม่ต้องมีคำสั่งให้รับรองการมีถิ่นพำนักในประเทศไทย (เช่น บุคคลต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย)

5) กรณีนิติบุคคลต่างประเทศ
            (1) ถ้าไม่มีหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศ ให้มีคำสั่งให้ผู้ขอส่งหนังสือดังกล่าว
            (2) กรณีผู้ขอส่งหนังสือมอบอำนาจซึ่งกระทำในต่างประเทศ โดยระบุความรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศไว้ด้วยแล้ว ผู้ขอไม่ต้องส่งหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศ ทั้งนี้ หากเป็นการรับรองโดยเจ้าของ ข้อความรับรองการเป็นนิติบุคคลนั้นต้องปรากฏอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของหนังสือมอบอำนาจเหนือลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจ พิจารณาตามแนวทางในหัวข้อหนังสือมอบอำนาจประกอบ

6) การส่งต้นฉบับเอกสารประกอบคำขอ หากเป็นการยื่นคำขอของผู้ขอรายเดียวกันพร้อมกันหลายคำขอ เอกสารประกอบคำขอแรกต้องเป็นต้นฉบับเอกสาร ส่วนคำขออื่น ๆ ให้ส่งภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวโดยระบุว่าต้นฉบับเอกสารอยู่ในคำขอเลขที่ใด

7) การส่งสำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารประกอบคำขอ ผู้ขอต้องรับรองความถูกต้องของสำเนาหรือภาพถ่ายนั้นด้วย

8) การส่งเอกสารประกอบคำขอที่เป็นภาษาต่างประเทศ ผู้ขอต้องจัดให้มีคำแปลเป็นภาษาไทย โดยมีคำรับรองของผู้แปลด้วยว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง

1.3 หนังสือมอบอำนาจ

การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกิจการที่ต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การมอบอำนาจจึงต้องทำเป็นหนังสือ (ป.พ.พ. มาตรา 798) ซึ่งกิจการที่กฎหมายให้ทำเป็นหนังสือผู้ที่จะต้องทำหนังสือนั้นจะต้องลงลายมือชื่อ (ป.พ.พ. มาตรา 9) ซึ่งผู้ที่จะต้องทำหนังสือมอบอำนาจคือผู้มอบอำนาจ เพราะตามกฎหมายเรื่องตัวการ-ตัวแทน เมื่อตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจดำเนินการใด ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับมอบอำนาจแล้วย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด และมีผลให้การนั้นผูกพันระหว่างตัวการหรือผู้มอบอำนาจกับบุคคลภายนอก การมอบอำนาจจึงต้องลงลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจเป็นสำคัญ เมื่อไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้รับมอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อ ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจจึงไม่จำเป็นต้องมีลายมือชื่อของผู้รับมอบอำนาจ ส่วนพยานไม่มีกฎหมายระบุว่าหนังสือมอบอำนาจจะต้องมีพยานรับรองการมอบอำนาจเว้นแต่ในกรณีที่เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจจึงไม่จำเป็นต้องมีลายมือชื่อของพยาน 

1) การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กระทำโดยตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ ให้แนบภาพถ่ายหนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจ และบัตรประจำตัวของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจมาพร้อมกันด้วยตามกฎกระทรวงข้อ 4

2) หนังสือมอบอำนาจต้องมีการระบุ วัน เดือน ปี ที่ทำการมอบอำนาจให้ชัดเจน

3) กรณีผู้มอบอำนาจเป็นนิติบุคคล การลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อให้ครบตามอำนาจ ที่ระบุในหนังสือรับรองนิติบุคคล

4) กรณีการมอบอำนาจกระทำในประเทศไทย
                        (1) ผู้มอบอำนาจไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้นายทะเบียนเห็นว่าในขณะตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง
                        (2) ผู้มอบอำนาจเป็นบุคคลธรรมดาต่างประเทศมอบอำนาจในประเทศไทย แม้ในคำขอจะระบุถิ่นพำนักหรือที่อยู่ในประเทศไทยก็ตาม ให้ผู้ขอส่งหลักฐานที่แสดงว่าขณะตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทย

5) กรณีการมอบอำนาจกระทำในต่างประเทศต้องมีการรับรองลายมือชื่อหรือรับรองการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจโดยหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ โนตารีปับลิก หรือ บุคคลซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นระบุให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสาร เป็นผู้รับรองลายมือชื่อหรือรับรองการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ แล้วแต่กรณี นำเกณฑ์ข้อ 1.5 การรับรองลายมือชื่อมาใช้ประกอบการพิจารณา

แนวทางการพิจารณา

1) การระบุชื่อนิติบุคคลในหนังสือมอบอำนาจ เช่น “บริษัท กอไผ่ จำกัด โดยนายเดช กอไผ่” หรือ “เฟซบุ๊ค โค., แอลทีดี นิติบุคคลประเทศอเมริกา” ไม่ต้องมีคำสั่งให้ผู้ขอตัดคำว่า “โดยนายเดช กอไผ่” หรือ “นิติบุคคลประเทศอเมริกา” ออก

2) หนังสือมอบอำนาจต้องมีการระบุ วัน เดือน ปี ที่ทำการมอบอำนาจให้ชัดเจน หากไม่ระบุให้นายทะเบียนสั่งให้แก้ไข

3) หนังสือมอบอำนาจจะระบุวันหมดอายุหรือไม่ก็ได้

4) การลงลายมือของผู้รับมอบอำนาจและพยานจะมีหรือไม่ก็ได้

5) การมอบอำนาจช่วงต้องเกิดขึ้นขณะหรือหลังจากมอบอำนาจหลัก หากมีการระบุวันที่มอบอำนาจช่วงก่อนการมอบอำนาจหลักให้มีคำสั่งให้ส่งหนังสือมอบอำนาจนั้นใหม่

6) ผู้รับมอบอำนาจช่วงไม่สามารถมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นกระทำแทนได้ กรณีผู้รับมอบอำนาจช่วงมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน ให้มีคำสั่งให้แก้ไขตัวแทนและทำหนังสือมอบอำนาจใหม่จากผู้ขอจดทะเบียนหรือตัวแทนหลัก

7) การมอบอำนาจที่มีข้อความเป็นการให้สัตยาบันสามารถทำได้ เช่น ให้สัตยาบันว่าให้มีผลผูกพันตัวแทนย้อนหลัง เป็นต้น

8) บุคคลต่างด้าวไม่สามารถเป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ

9) การเปลี่ยนตัวแทนตามแบบ ก.06 ให้มีผลนับแต่วันที่ยื่นแบบ ก.06 (ไม่ใช่วันที่มีการมอบอำนาจ)

1.4 อากรแสตมป์

หนังสือมอบอำนาจต้องเสียคำอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
         1) การมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ปิดอากรแสตมป์จำนวน 10 บาท(ตัวแทนเฉพาะกาล)
         2) การมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ปิดอากรแสตมป์จำนวน 30 บาท (ร่วมกันกระทำทุกคน ในหนังสือมอบอำนาจจะระบุว่า “และ”)
         3) การมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจ ค่าอากรแสตมป์ คนละ 30 บาท (ในหนังสือมอบอำนาจจะระบุว่า “และ/หรือ”)
         4) ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ให้ผู้มอบอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องขีดฆ่าอากรแสตมป์

แนวทางการพิจารณา

หนังสือมอบอำนาจต้องเสียคำอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
         1) การมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ปิดอากรแสตมป์จำนวน 10 บาท(ตัวแทนเฉพาะกาล)
         2) การมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ปิดอากรแสตมป์จำนวน 30 บาท (ร่วมกันกระทำทุกคน ในหนังสือมอบอำนาจจะระบุว่า “และ”)
         3) การมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจ ค่าอากรแสตมป์ คนละ 30 บาท (ในหนังสือมอบอำนาจจะระบุว่า “และ/หรือ”)
         4) ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ให้ผู้มอบอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องขีดฆ่าอากรแสตมป์

1.5 การรับรองลายมือชื่อ

กฎกระทรวงข้อ 5 กำหนดให้ ดำเนินการดังนี้

        1) กรณีการรับรองลายมือชื่อเพียงอย่างเดียว ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจเป็นผู้รับรอง

        2) กรณีการรับรองลายมือชื่อหรือรับรองการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ให้หัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจโนตารีปับลิก หรือบุคคลซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นระบุให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเป็นผู้รับรองการรับรองลายมือชื่อ การรับรองการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ เป็นการรับรองถึงความมีอยู่จริงความถูกต้อง หรือความสมบูรณ์ของเอกสาร หรือการทำคำรับรองประเภทอื่น ๆ เพื่อให้เอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานที่เชื่อถือ ผู้ที่ทำเรียกว่า “โนตารีปับลิก”
        การลงลายมือชื่อของโนตารีปับลิกเป็นการรับรองลายมือชื่อที่มีการลงชื่อต่อหน้าในเอกสารนั้น ๆ หรือรับรองเอกสารว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงจากต้นฉบับ หรือเป็นการทำคำรับรองประเภทอื่น ๆ รวมทั้ง การลงลายมือชื่อในฐานะเป็นพยานในเอกสารนั้น สาระสำคัญของโนตารีปับลิกจึงเป็นการรับรองเอกสารที่ได้ทำขึ้น ณ ขณะนั้น และในท้องถิ่นนั้น โนตารีปับลิกที่จะทำการรับรองจึงต้องเป็นโนตารีปับลิกในประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ มิใช่โนตารีปับลิกของประเทศที่นิติบุคคลนั้นจดทะเบียนตั้งอยู่
        อำนาจในการลงนามของโนตารีปับลิกหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการรับรองเอกสารเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น กรณีของประเทศเยอรมนีซึ่งกฎหมายโนตารีสามารถให้โนตารีมอบหมาย (Appointed Representative) ให้ผู้ช่วยโนตารี (Trainee Notary) กระทำการแทนได้ ดังนั้น อำนาจในการลงนามของโนตารีปับลิกต้องพิจารณากฎหมายของแต่ละประเทศเป็นรายกรณี อย่างไรก็ดี กฎกระทรวงข้อ 5 (2) ไม่ได้กำหนดให้โนตารีปับลิกเป็นผู้รับรองเสมอไป บุคคลซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นนั้นระบุให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารจะเป็นผู้รับรองก็ได้ ซึ่งในกรณีมีสงสัย นายทะเบียนอาจสั่งให้ชี้แจงถึงสถานะของผู้รับรองได้
        กรณีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจที่กระทำในต่างประเทศ ตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และได้ให้สถานทูตไทย สถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ โนตารีปับลิก หรือบุคคลซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นระบุให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเป็นผู้รับรองลายมือชื่อหรือรับรองการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ แล้วแต่กรณีอาจให้หน่วยงานดังกล่าวระบุข้อความรับรองการเป็นนิติบุคคลต่างประเทศไว้ด้วย อย่างไรก็ดี หน่วยงานดังกล่าวจะรับรองการเป็นนิติบุคคลให้หรือไม่นั้นเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน หากหน่วยงานดังกล่าวไม่รับรองการเป็นนิติบุคคลต่างประเทศไว้ นิติบุคคลต่างประเทศนั้นสามารถรับรองการเป็นนิติบุคคลของตนเองได้
        กรณีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจที่กระทำในประเทศไทย ตามกฎกระทรวงข้อ 5 วรรคสองต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้นายทะเบียนเห็นว่าในขณะตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง ในกรณีนี้ ไม่มีเอกสารที่ต้องให้หน่วยงานใดรับรอง นิติบุคคลต่างประเทศสามารถรับรองการเป็นนิติบุคคลของตนเองได้

แนวทางการพิจารณา

1) การรับรองลายมือชื่อหรือตั้งตัวแทนต้องกระทำ ณ ประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ โดยผู้ที่รับรองจะต้องอยู่ในประเทศ เช่น การมอบอำนาจจัดทำขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา การโนตารีต้องทำในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

2) กรณีโนตารีอยู่คนละประเทศกับถิ่นที่อยู่ของผู้ขอจดทะเบียน เช่น บริษัทมีถิ่นที่อยู่ในอเมริกาโนตารีประเทศสิงคโปร์ จะต้องมีข้อความแสดงว่า มีการลงลายมือชื่อ ตั้งตัวแทน หรือมอบอำนาจกันในประเทศสิงค์โปร์ โนตารีประเทศสิงคโปร์จึงจะสามารถรับรองได้ หากไม่มีเอกสารหรือข้อความดังกล่าว ให้มีคำสั่ง ตค. 5 ข้อ 7 ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง

3) กรณีเป็นบุคคลอื่นซึ่งกฎหมายในประเทศนั้นให้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเป็นผู้รับรองลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจ เช่น จูเนียร์โนตารีประเทศเยอรมัน ทั้งนี้ ให้ส่งหลักฐานแสดงหรือชี้แจงถึงการมีอำนาจด้วย

4) การรับรองโนตารีปับลิกในกรณีต่าง ๆ เช่น

     (1) การรับรองนิติฐานะว่าเป็นนิติบุคคลภายใต้กฎหมายใด เช่น เป็นนิติบุคคลประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถระบุ USA ได้ โดยไม่ต้องระบุว่าเป็นมลรัฐใด

     (2) กรณีการรับรองของประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะมีข้อความรับรองเฉพาะลายมือชื่อหรือรับรองตราประทับเพียงอย่างเดียว ก็สามารถทำได้

     (3) การรับรองจะประทับตรารับรอง หรือเขียนข้อความรับรอง หรือจะเขียนข้อความจำกัดความรับผิดก็สามารถทำได้

     (4) การรับรองโดยโนตารีปับลิก แต่ไม่ระบุประเทศที่มีการรับรอง หากพิจารณาแล้วสามารถอนุมานได้ว่าการมอบอำนาจทำขึ้น ณ ที่ใด โดยไม่ต้องระบุประเทศให้ชัดเจน เช่น การระบุมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถอนุมานได้ว่าได้รับรองโดยโนตารีปีบลิกในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยแล้ว ถือว่าการรับรองหนังสือมอบอำนาจนั้นทำโดยชอบแล้ว ในกรณีที่ไม่สามารถอนุมานได้ว่าการมอบอำนาจทำขึ้นที่ใด นายทะเบียนอาจพิจารณาสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนหรือตัวแทนชี้แจงโดยไม่ต้องสั่งให้ส่งหนังสือมอบอำนาจใหม่ได้

5) การรับรองลายมือชื่อหรือรับรองการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจที่โนตารีปับลิกระบุวันหมุดอายุการรับรองเอาไว้ พิจารณาจากวันที่ยื่นคำขอ หากการรับรองหมดอายุก่อนวันยื่นคำขอให้ถือว่าเอกสารนั้นไม่มีการรับรองโนตารีปันลิก เช่น การรับรองการตั้งตัวแทนในหนังสือมอบอำนาจ หากวันที่รับรองหมดอายุก่อนวันยื่นคำขอ ถือว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นไม่มีการรับรองโนตารี ปับลิก แต่หนังสือมอบอำนาจนั้นยังใช้ได้ โดยให้มีคำสั่ง ตค. 5 ข้อ 7 ให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง เช่น การรับรองโนตารีปับลิกใหม่ หรือส่งเอกสารฉบับใหม่

6) หากมีข้อสงสัยว่าการลงลายมือชื่อนั้นเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ นายทะเบียนสามารถสอบถามตัวแทนเพื่อให้ชี้แจงข้อกฎหมายและรายละเอียดเพิ่มเติมได้

7) ตัวอย่างข้อความในการรับรองโนตารีปับลิก

ตัวอย่าง - Notary Public เครื่องหมายการค้า

1.6 การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน

1.6.1 กรณียื่นคำขอจดทะเบียนด้วยตนเอง
      1) กรณีบุคคลธรรมดา ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารให้ครบถ้วน
      2) กรณีนิติบุคคล การลงลายมือชื่อให้พิจารณาจากหนังสือรับรองนิติบุคคล โดยให้ลงลายมือชื่อในเอกสารให้ครบถ้วน

1.6.2 กรณียื่นคำขอจดทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Filing (Signed by DIP-CA) บุคคลผู้ลงนามจะต้องเป็นเจ้าของหรือตัวแทน

แนวทางการพิจารณา

1) กรณีผู้ขอลงชื่อไม่ครบถ้วน ให้มีคำสั่งให้ผู้ขอมาลงชื่อให้ครบถ้วนหรือส่งคำขอฉบับใหม่ที่ลงชื่อครบถ้วนแล้ว

2) การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน เจ้าของหรือตัวแทนสามารถลงลายมือชื่อในเอกสารให้ครบถ้วนได้ เช่น หน้า 1 ลงชื่อโดยเจ้าของ หน้า 2 ลงชื่อโดยตัวแทน สามารถทำได้

3) กรณียื่นคำขอจดทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Filing แล้วผู้ขอแนบเอกสารที่ลงชื่อจริงมาด้วยให้พิจารณาเอกสารที่ e-Filing เป็นหลัก

2. การพิจารณารายการสินค้าและบริการ

2.1 รายการสินค้าและบริการ

1) ต้องระบุรายการสินค้าที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองแต่ละอย่างโดยชัดแจ้ง โดยใช้คำหรือข้อความเท่าที่จำเป็น มีความชัดจน กระชับและเข้าใจง่าย เพียงพอที่จะทำให้เข้าใจถึงลักษณะ หน้าที่ หรือ การใช้งานของสินค้านั้น ต้องไม่เป็นรายการที่กว้างเกินไป และรู้ว่าอยู่ในจำพวกใด

2) การระบุรายการสินค้าในคำขอจดทะเบียนสามารถระบุได้หลายจำพวก

3) กรณีขอจดทะเบียนรายการสินค้าหลายจำพวก ต้องระบุรายการสินค้าที่ประสงค์จะขอรับความคุ้มครองแยกตามจำพวกให้ชัดเจน

4) เมื่อยื่นขอจดทะเบียนแล้วประสงค์จะเพิ่มเติมรายการสินค้าไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นการระบุรายการสินค้าให้มีความขัดแจ้งมากยิ่งขึ้น

แนวทางการพิจารณา

1) การพิจารณาจำพวกให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดจำพวกสินค้าและบริการ ฉบับที่ใช้ขณะยื่นคำขอจดทะเบียน กรณีไม่ถูกต้องให้มีคำสั่งให้ผู้ขอแก้ไขให้อยู่ในจำพวกที่ถูกต้อง

2) การพิจารณารายการสินค้า

       (1) ให้พิจารณาจาก “บัญชีรายการสินค้าและบริการที่ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย” (https://tmsearch.ipthailand.go.th/
       (2) กรณีไม่อาจจัดรายการไว้ในจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ให้ใช้หลักเกณฑ์ต่อไปนี้

              (2.1) รายการสินค้า ถ้าปรากฏว่า มีผลิตภัณฑ์ใดไม่อาจจัดไว้ในจำพวกใดจำพวกหนึ่งตามบัญชี รายการสินค้าและบริการที่ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย (https://tmsearch.ipthailand.go.th/ ให้ใช้สังเกตดังต่อไปนี้เป็นหลักเกณฑ์ช่วยในการพิจารณา

                        ก. ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ให้จำแนกลงในจำพวกตามอรรถประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ของการใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้น ถ้าปรากฏว่าการจำแนกดังกล่าว ยังไม่สามารถจัดลงในจำพวกใดตามคู่มือจำพวกได้ ให้จำแนกโดยการเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในคู่มือฉบับเรียงลำดับตัวอักษร และถ้าปรากฎว่ายังไม่สามารถจัดลงในจำพวกใดได้อีก ให้พิจารณาจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหรือลักษณะการทำงานของผลิตภัณฑ์นั้น

                        ข. ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ประเภทอเนกประสงค์หรือใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ (เช่น นาฬิกามีวิทยุในตัว) อาจจัดอยู่ในจำพวกสินค้าได้ทุกจำพวกตามอรรถประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ของการใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้น และถ้าปรากฎว่าเกณฑ์พิจารณาตามนี้ไม่อาจจัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวลงในจำพวกใดจำพวกหนึ่งได้ให้นำเกณฑ์การพิจารณาตามข้อ ก. มาใช้

                        ค. วัตถุดิบยังไม่ผ่านกระบวนการหรือกึ่งสำเร็จรูป ให้จำแนกเข้าจำพวกตามส่วนประกอบของวัตถุนั้น

                        ง. อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ที่ไม่อาจนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นได้ให้จัดไว้ในจำพวกเดียวกับผลิตภัณฑ์นั้น แต่ถ้าสามารถใช้ในวัตถุประสงค์อื่นได้ ให้นำเกณฑ์การพิจารณาตามข้อ ก. มาใช้

                        จ. ผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะสำเร็จรูปหรือไม่ ที่ได้รับการจัดจำพวกตามวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตถ้าผลิตภัณฑ์นั้นผลิตจากวัตถุดิบหลายชนิดแตกต่างกัน ให้จำแนกสินค้าดังกล่าวลงในจำพวกของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมากที่สุด

                        ฉ. กล่องหรือซองที่ใช้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์ ให้จำแนกไว้ในจำพวกเดียวกันกับผลิตภัณฑ์นั้น เช่น แว่นตา และ ซองแว่นตา เป็นต้น

              (2.2) รายการบริการ ถ้าปรากฎว่า มีบริการใดไม่อาจจัดไว้ในจำพวกใดจำพวกหนึ่งตามบัญชีรายการสินค้าและบริการที่ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย (https://tmsearch.ipthailand.go.th/) ให้ใช้ข้อสังเกตดังต่อไปนี้ เป็นหลักเกณฑ์ช่วยในการพิจารณา

                        ก. บริการจะถูกจำแนกตามลักษณะการดำเนินการของกิจกรรมที่กำหนดไว้ในคำบรรยายของจำพวกบริการและคำอธิบายจำพวก หรือ ถ้าระบุไม่ได้ อาจเทียบเคียงกับรายการบริการในคู่มือฉบับเรียงลำดับตัวอักษร

                        ข. บริการให้เช่าสิ่งใด จะจัดอยู่ในจำพวกเดียวกันกับบริการสิ่งนั้น (เช่น บริการให้เช่าโทรศัพท์ จ.38) ลีสซิ่ง (Leasing) มีลักษณะการบริการคล้ายคลึงกับบริการให้เช่า (Rental) อย่างไรก็ตามบริการเช่าซื้อ(Hire-or-lease-purchase financing) ถูกจัดอยู่ในจำพวก 36 เนื่องจากเป็นการบริการที่เกี่ยวกับการเงิน

                        ค. บริการที่ให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลข่าวสาร หรือให้คำปรึกษา จะจำแนกอยู่ในจำพวกบริการที่สัมพันธ์กับสาระสำคัญของคำแนะนำ ข้อมูลข่าวสาร คำปรึกษานั้น เช่น การให้คำปรึกษาด้านการขนส่ง (จ.39) การให้คำปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจ (จ.35) การให้คำปรึกษาด้านการเงิน (จ.36) การให้คำปรึกษาด้านความงาม (จ.44) เป็นต้น การให้คำแนะนำข้อมูลข่าวสาร คำปรึกษาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่น ๆ ด้วย เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ไม่มีผลกระทบต่อการจำแนกจำพวกบริการ

                        ง. บริการแฟรนไชส์ จะจำแนกการบริการอยู่ในจำพวกเดียวกันกับประเภทของธุรกิจของเจ้าของผู้ให้สิทธิ เช่น บริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับแฟรนไชส์ (จ.35) บริการทางการเงินสำหรับแฟรนไชส์ (จ.36) บริการทางกฎหมายสำหรับแฟรนไชส์ (จ.45) เป็นต้น

       (3) หากรายการสินค้าไม่ชัดแจ้ง เช่น

- ระบุคำบรรยายถึงคุณสมบัติ เช่น “เสื้อเชิ้ตทำจากผ้าฝ้ายใส่ที่ไหนก็ดูดีดึงดูดสาว ๆ” ให้มีคำสั่งตัดคำบรรยาย “ใส่ที่ไหนก็ดูดีดึงดูดสาว ๆ” ออก
- รายการสินค้ากว้างเกินไป เช่น เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ให้มีคำสั่งให้แก้ไขให้ชัดแจ้ง เช่น เสื้อเชิ้ต เป็นต้น

        (4) รายการสินค้าสามารถระบุเป็นคำทับศัพท์ได้  โดยเทียบเคียงกับรายการของกรมฯ และรายการที่ใช้กันทั่วไปที่สืบค้นได้ หรือมีระบุตามพจนานุกรม เช่น ซูชิ ข้าวปั้นหน้าซูชิ ข้าวปั้นมีหน้า นิกิริ โอโกมากิซูชิ ไก่เทอริยากิ เทอริยากิไก่ ทาโกะยากิ

        (5) การระบุรายการสินค้าสามารถระบุภาษาไทยและมีภาษาอังกฤษกำกับด้วยได้ โดยไม่ต้องมีคำสั่งให้ตัดรายการสินค้าภาษาอังกฤษออก

        (6) กรณีคำขอมาดริด หากผู้ขอระบุรายการเป็นภาษาไทยอย่างเดียว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอระบุรายการภาษาอังกฤษกำกับภาษาไทยด้วย เช่น เสื้อเด็ก (Baby Shirt) เป็นต้น หากรายการภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษไม่ถูกต้อง ให้มีคำสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้อง

        (7) กรณีมีคำสั่งให้ผู้ขอแก้ไขรายการสินค้าและผู้ขอยื่นคำขอแก้ไข โดยไม่ได้แก้ไขรายการสินค้าตามคำสั่งนายทะเบียนหรือแก้ไขไม่ครบถ้วน หากนายทะเบียนมีคำสั่งให้แก้ไขไปแล้ว 2 ครั้ง ในครั้งที่ 3 ให้แจ้งผู้ขอด้วยว่า หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งให้ผู้ขอใช้สิทธิอุทธรณ์เท่านั้น และ หากยังไม่แก้ไขตามคำสั่งนายทะเบียนถือว่าผู้ขอรายนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียน แม้จะได้มีการยื่นคำขอแก้ไขภายในกำหนดเวลาก็ตาม และจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ

        (8) กรณีที่ยื่นคำขอมา 1 จำพวก ปรากฏว่ามี 2 จำพวก ให้มีคำสั่งตัดรายการสินค้าที่อยู่ต่างจำพวกนั้นออก เช่น ระบุจำพวก 3 จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 1.ครีมนวดตัว 2.ครีมนวดผม 3.ครีมทาแก้ปวดเมื่อย ซึ่งรายการที่ 1-2 อยู่ในจำพวก 3 และรายการที่ 3 อยู่จำพวก 5 ให้มีคำสั่งให้แก้ไขรายการที่ 1-2 ให้ชัดแจ้งและให้ตัดรายการที่ 3 ออก ทั้งนี้ หากผู้ขอประสงค์จะตัดรายการที่ 1-2 ออก เหลือรายการที่ 3 ซึ่งอยู่ในจำพวก 5 ก็สามารถทำได้

2.2 การคำนวณค่าธรรมเนียมรายการ

1) ค่าธรรมเนียมรายการสินค้าบริการคิดเป็นจำพวก โดย 1 ถึง 5 รายการ รายการละ 1,000 บาท หากมากกว่า 5 รายการ ให้คิดอัตราเหมาจ่ายเป็นจำพวก จำพวกละ 9,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมฯ

2) การพิจารณาค่าธรรมเนียมให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ฉบับที่ใช้ขณะยื่นคำขอจดทะเบียน

แนวทางการพิจารณา

หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการ จะไม่คิดแบบถัวเฉลี่ย เช่น ผู้ขอระบุ 3 จำพวก รวม 13,000 บาท ได้แก่ จำพวก 18 จำนวน 2 รายการ (2,000 บาท) จำพวก 24 จำนวน 10 รายการ (9,000 บาท) จำพวก 25 จำนวน 2 รายการ (2,000 บาท) ต่อมานายทะเบียนสั่งแก้ไข โดยผู้ขอตัดจำพวก 24 ออกแล้วแก้ไขจำพวก 18 เป็น 9 รายการ แบบนี้ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม (เพิ่มอีก 7,000 บาท) โดยไม่คิดแบบถัวเฉลี่ย

3. การพิจารณาคำอ่านและคำแปล

กรณีเครื่องหมายประกอบด้วยคำหรือข้อความภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาสเปน ภาษาอิตาลี ภาษาลาติน ภาษาอาหรับ ภาษารัสเซีย และภาษาประเทศอาเซียน (9 ภาษา) รวม 20 ภาษา ให้ระบุคำอ่านและคำแปลเป็นภาษาไทยไว้ด้วย เว้นแต่ข้อความที่เป็นภาษาต่างประเทศนั้นมีใช่กรณีที่จะจัดทำคำแปลได้ กรณีภาษาจีน ให้ระบุคำอ่านและคำแปลเป็นจีนกลางและจีนแต้จิ๋ว

แนวทางการพิจารณา

1) กรณีไม่ได้ระบุคำอ่านและคำแปล

       (1) ให้มีคำสั่งให้ระบุคำอ่านและคำแปลให้ถูกต้องทุกกรณี
       (2) กรณีไม่ได้ระบุคำอ่านแปล และเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ให้มีคำสั่งให้อ่านแปล และมีคำสั่งมาตรา 7 หรือมาตรา 17 แล้วแต่กรณี
       (3) กรณีไม่ได้ระบุคำอ่านแปลและเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะให้มีคำสั่งให้อ่านแปล

2) กรณีระบุคำอ่านแปลไม่ถูกต้อง

       (1) หากพิจารณาเครื่องหมายแล้วมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ให้มีคำสั่งให้ผู้ขออ่านแปลมาใหม่ เช่น คำว่า “BOY” ผู้ขอระบุว่า “แปลไม่ได้” หรือระบุคำแปลว่า “เด็กผู้หญิง” ซึ่งเป็นการระบุคำแปลที่ไม่ถูกต้อง ให้มีคำสั่งให้ผู้ขออ่านแปลมาใหม่ เป็นต้น
       (2) กรณีระบุคำอ่านแปลไม่ถูกต้องและเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ให้มีคำสั่งตามมาตรา 7 โดยไม่ต้องมีคำสั่งให้อ่านแปล
       (3) กรณีระบุคำอ่านแปลไม่ถูกต้องและภาคส่วนนั้นเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะแต่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้มีคำสั่งให้อ่านแปล และมีคำสั่งตามมาตรา 17

3) ทั้งนี้ ให้ผู้ขอส่งเอกสารยืนยันการอ่านแปลจากพจนานุกรมที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไป หรือใช้สถาบันแปลภาษาที่มีความนำเชื่อถือรับรองคำอ่านแปลเป็นเอกสารอ้างอิง

4. การพิจารณารูปเครื่องหมาย

1) รูปเครื่องหมายการค้าที่แสดงในคำขอจดทะเบียนจะต้องมีความชัดเจนสามารถมองเห็นรายละเอียดทั้งหมดที่ปรากฏในเครื่องหมาย โดยในคำขอจดทะเบียนให้แสดงรูปเครื่องหมายการค้าขนาดไม่เกิน 5x5 เซนติเมตร กรณีรูปเกิน 5x5 เซนติเมตร ให้คิดค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินเพิ่มเซนติเมตรละ 200 บาท โดยคำนวณจากด้านกว้างและด้านยาว

2) กรณีกลุ่มของสี ให้ผู้ขอจดทะเบียนบรรยายด้วยว่าเครื่องหมายการค้านั้นประกอบด้วยสีใด และแต่ละสีจัดวางอยู่ในลักษณะใด

3) กรณีรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ ต้องแสดงรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ (หมายถึง เครื่องหมายที่แสดงด้านกว้าง ด้านยาว ด้านลึก หรือสามมิติ อันเป็นสาระสำคัญทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้ขอจดทะเบียนจะบรรยายรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุนั้นด้วยก็ได้

4) กรณีเครื่องหมายเสียงหรือประกอบด้วยเสียง ให้ผู้ขอบรรยายเสียงนั้นอย่างชัดเจน (เสียงคนร้องเพลง เสียงสัตว์คำราม เสียงเพลง/ดนตรี เสียงอื่น ๆ) และส่งสิ่งบันทึกเสียงที่ขอจดทะเบียนที่มีความชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ขอจดทะเบียนจะส่งโน้ตดนตรี กราฟเสียง หรือสิ่งอื่นที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของเครื่องหมายนั้นด้วยก็ได้

แนวทางการพิจารณา

1) กรณีรูปเครื่องหมายการค้าที่แสดงในคำขอไม่ชัดเจนให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ส่งรูปใหม่ โดยต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายเดิม ซึ่งผู้ขอจะยื่นชี้แจงว่าชัดเจนแล้วไม่ได้ หากผู้ขอจดทะเบียนไม่เห็นด้วยสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้

2) กรณีเห็นว่ารูปเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนมีลักษณะสองเครื่องหมาย ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้ง (ตค. 9 ข้อ 10) ให้ผู้ขอชี้แจงหรือส่งหลักฐานเพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้เครื่องหมายในลักษณะตามที่ขอจดทะเบียน หรือให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอแก้ไขรูปเครื่องหมายให้เหลือเพียงเครื่องหมายเดียว ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนแจ้งด้วยว่า หากไม่ได้มีการใช้เครื่องหมายการค้าในลักษณะที่ยื่นขอจดทะเบียน อาจเป็นเหตุให้มีการร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา 63

3) กรณีที่รูปเครื่องหมายการค้ามีภาคส่วน ® หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นในลักษณะเดียวกันปรากฎในเครื่องหมายการค้า หากไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมาย ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอแก้ไขรูปเครื่องหมายการค้าใหม่ โดยให้ตัดส่วนดังกล่าวออก ทั้งนี้ตามมาตรา 15 (1)

4) กลุ่มของสี

       (1) ลำดับแรกพิจารณาก่อนว่า เครื่องหมายมีลักษณะเป็นกลุ่มของสีหรือไม่ หากไม่มีลักษณะเป็นกลุ่มของสี ให้ออก ตค. 9 ข้อ 10 แจ้งผู้ขอว่าไม่มีลักษณะเป็นกลุ่มของสี หากผู้ขอไม่ชี้แจงให้พิจารณาในลักษณะเครื่องหมายทั่วไ
       (2) กรณีเป็นกลุ่มของสี หรือผู้ขอชี้แจงว่าเป็นเครื่องหมายกลุ่มของสี ให้พิจารณาต่อว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ โดยใช้มาตรา 7 หรือมาตรา 17 แล้วแต่กรณี

5) รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ

       (1) ลำดับแรกพิจารณาก่อนว่า เครื่องหมายมีลักษณะเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุหรือไม่ หากไม่มีลักษณะเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุให้ออก ตค. 9 ข้อ 10 แจ้งผู้ขอว่าไม่มีลักษณะเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หากผู้ขอไม่ชี้แจงให้พิจารณาในลักษณะเครื่องหมายทั่วไป
       (2) กรณีเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือผู้ขอชี้แจงว่าเป็นเครื่องหมายรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ ให้พิจารณาต่อว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ โดยใช้มาตรา 7 หรือมาตรา 17 แล้วแต่กรณี
       (3) หากผู้ขอขอตัดรูปให้เหลือด้านเดียว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์เดิมของผู้ขอ และให้พิจารณต่อว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ โดยใช้มาตรา 7 หรือมาตรา 17 แล้วแต่กรณี

6) กรณีเครื่องหมายเสียง

       (1) กรณีไม่ระบุคำบรรยายเสียง สั่งให้ผู้ขอแก้ไขโดยให้ระบุคำบรรยายเสียง โดยใช้แบบ ก.06 แก้ไข
       (2) กรณีผู้ขอไม่ส่งสิ่งบันทึกเสียง ให้ผู้ขอส่งสิ่งบันทึกเสียงโดยใช้แบบ ก.20 เป็นหนังสือนำส่ง

7) กรณีรูปเกิน 5x5 เชนติเมตร

       (1) ยื่นคำขอด้วยตนเอง ให้คิดค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินเพิ่ม เชนติเมตรละ 200 บาท โดยคำนวณจากด้านกว้างและด้านยาว
       (2) ยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านระบ e-Filing ให้ถือตามค่าธรรมเนียมที่ปรากฎในระบบ

5. การพิจารณาการให้สิทธิตามมาตรา 28 และมาตรา 28 ทวิ

การขอถือสิทธิ หมายถึง กรณีที่ผู้ขอได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ในต่างประเทศ หรือได้นำเครื่องหมายออกแสดงในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศแล้ว ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในราชอาณจักรภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก (ก่อนนำมายื่นคำขอในประเทศไทย) หรือวันที่ได้นำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกแสดงโดยให้ถือว่าวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศเป็นครั้งแรกหรือวันที่ได้นำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกแสดง แล้วแต่วันใดจะถึงก่อนเป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในราชอาณาจักร

5.1 มาตรา 28

กรณีผู้ขอยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และจะขอให้ถือว่าวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ในต่างประเทศเป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในประเทศไทย ทางปฏิบัติเรียกว่า "การขอใช้สิทธิย้อนหลัง"

1) การขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 ให้ผู้ขอยื่นคำขอจดทะเบียนตามแบบ ก.01 ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนในต่างประเทศเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งยื่นคำขอถือสิทธิตามแบบ ก.10 และให้ส่งเอกสารหลักฐาน ดังนี้

      (1) สำเนาคำขอจดทะเบียนที่ยื่นไว้ในต่างประเทศ ซึ่งมีการรับรองสำเนาถูกต้อง โดยผู้มีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียนในประเทศนั้น
      (2) หนังสือรับรองโดยผู้ขอจดทะเบียนที่แสดงว่าคำขอจดทะเบียนในต่างประเทศไม่เคยถูกปฏิเสธ เพิกถอน หรือละทิ้ง
      (3) กรณีเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศให้มีการแปลเอกสารเป็นภาษาไทยและรับรองสำเนาถูกต้อง

2) กรณีไม่สามารถส่งหลักฐานตามข้อ 1 (1) (2) (3) พร้อมกับคำขอจดทะเบียนตามแบบ ก.01 และคำขอถือสิทธิตามแบบ ก.10 ให้ผู้ขอยื่นหนังสือขอผ่อนผันตามแบบ ก.19 โดยขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 60 วัน กรณีที่ไม่อาจส่งเอกสารหลักฐานภายในเวลาผ่อนผันให้นายทะเบียนพิจารณาคำขอจดทะเบียนนั้นต่อไป โดยถือว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ประสงค์จะขอใช้สิทธิตามมาตรา 28

แนวทางการพิจารณา

1) เครื่องหมายที่ผู้ขอจดทะเบียนระบุไว้ในแบบคำขอถือสิทธิใช้สิทธิย้อนหลังตามแบบ ก.10 ต้องเป็นเครื่องหมายเดียวกับเครื่องหมายตามแบบ ก.01 ทั้งนี้ ให้พิจารณารูปลักษณะของเครื่องหมายเป็นสำคัญ

       (1) เครื่องหมายคำต้องเป็นฟอนต์เดียวกันลักษณะเหมือนกัน หากเครื่องหมายต่างกัน เช่น เครื่องหมายคำว่า ส่วนเครื่องหมายในต่างประเทศเป็น , ลักษณะตัวอักษร (ฟอนต์) ต่างกัน หรืออักษรตัวพิมพ์ใหญ่กับตัวพิมพ์เล็ก เป็นต้น ถือว่าเป็นคนละเครื่องหมาย ให้มีคำสั่งไม่อนุญาต
       (2) สีของเครื่องหมาย กรณีเครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียนในต่างประเทศ และคำขอที่ยื่นจดทะเบียนในประเทศไทยมีสีแตกต่างกัน ให้ถือว่าเป็นเครื่องหมายเดียวกัน เว้นแต่กรณีในกลุ่มของสี
       (3) เครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียนในต่างประเทศมีลักษณะเป็น Series Mark หากภาพเครื่องหมายใดเครื่องหมายหนึ่งใน Series Mark ตรงกับเครื่องหมายที่ยื่นคำขอจดทะเบียนในประเทศไทยให้ถือว่าเป็นเครื่องหมายเดียวกัน

2) รายการสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนในต่างประเทศต้องครอบคลุมสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนในประเทศไทย

       (1) กรณีจำพวกสินค้าในคำขอต่างประเทศอยู่คนละจำพวกกับคำขอในไทย ให้พิจารณาจากรายการสินค้าว่าครอบคลุมสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนในประเทศไทย
       (2) กรณีนายทะเบียนมีคำสั่งให้แก้ไขรายการสินค้า นายทะเบียนอาจให้รอพิจารณามาตรา 28 ได้

3) สำเนาคำขอจดทะเบียนที่ยื่นไว้ในต่างประเทศต้องมีการรับรองสำเนาถูกต้อง โดยผู้มีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียนในประเทศนั้น

4) หนังสือรับรองที่แสดงว่าคำขอจดทะเบียนในต่างประเทศไม่เคยถูกปฏิเสธ เพิกถอน หรือละทิ้งการรับรองดังกล่าวจะรับรองโดยเจ้าของหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้

5) กรณีเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศให้มีการแปลเอกสารเป็นภาษาไทยและรับรองสำเนาถูกต้อง

6) เป็นเครื่องหมายที่ยื่นภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศเป็นครั้งแรก

7) ผู้ขอจดทะเบียนมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
       (1) มีสัญชาติไทย
       (2) หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
       (3) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ** (ส่วนใหญ่เป็นประเภทนี้)
       (4) มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุตคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยขอจดทะเบียนในประเทศนั้น
       (5) ประเทศนั้น และประเทศไทยมีตกลงให้สิทธิดังกล่าวบนพื้นฐานต่างตอบแทนหรือประเทศนั้นมีหนังสือแจ้งให้สิทธิดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว
       (6) มีภูมิลำเนาหรือประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างจริงจังในประเทศไทยหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

8) หากนายทะเบียนไม่อนุญาตให้ผู้ขอใช้สิทธิมาตรา 28 ให้มีคำสั่งแจ้ง ตค. 9 ข้อ 10 แจ้งผู้ขอโดยอาจใช้ข้อความในลักษณะ ดังนี้ :

“ไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 28 เนื่องจากรูปเครื่องหมายตามแบบ ก.01 แตกต่างกับคำขอจดทะเบียนในต่างประเทศ (ลักษณะฟอนต์ต่างกัน)”

“ไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 28 เนื่องจากรายการสินค้าแตกต่างกับคำขอจดทะเบียนในต่างประเทศ”

“ไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 28 เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่ยื่นเกินกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนในต่างประเทศ”

9) กรณีผู้ขอขอแก้ใขรูปเครื่องหมายหรือรายการสินค้า ภายหลังครบกำหนดเวลาขอผ่อนผันการส่งเอกสาร 60 วัน เช่น ลักษณะฟอนต์ต่างกัน หรือรายการสินค้าไม่ครอบคลุมกัน เป็นต้น แม้ผู้ขอจะยื่นแบบ ก.06 แก้ไข ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่อนุญาต

5.2 มาตรา 28 ทวิ

กรณีผู้ขอนำสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าใดออกแสดงในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศที่จัดขึ้นในประเทศไทยหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทยหรือประเทศที่เป็นภาคีดังกล่าวจัดขึ้น หรือรัฐบาลไทยรับรองการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศนั้น เจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอาจขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 วรรคหนึ่งได้ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่นำออกแสดงในงานแสดงสินค้าดังกล่าวในราชอาณาจักรภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้นำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกแสดงหรือวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกนอกราชอาณาจักรแล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อนแต่ทั้งนี้การยื่นคำขอดังกล่าวต้องไม่เป็นการขยายระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 28

การจัดงานแสดงสินค้าที่จะถือเป็นงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศและการขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฏกระทรวงข้อ 12 ทวิ ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีความประสงค์จะขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 ทวิ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนและคำขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 ทวิ พร้อมแนบเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้

       (1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ขอจดทะเบียนได้นำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนนั้น ออกแสดงในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ
       (2) หนังสือรับรองการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศซึ่งออกให้โดยรัฐบาล ในกรณีที่รัฐบาลไทยเป็นผู้รับรองการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศนั้น หรือหนังสือรับรองการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศซึ่งออกให้โดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทยหรือของประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ในกรณีที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นเป็นผู้จัดงานแสดงสินค้ระหว่างประเทศขึ้น
       (3) สำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีการยื่นไว้นอกราชอาณาจักรครั้งแรก ซึ่งมีการรับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศนั้น (ถ้ามี)
       (4) สำเนาคำแปลเอกสารตาม (1) (2) และ (3) ในกรณีที่เอกสารดังกล่าวเป็นภาษาต่างประเทศ

งานแสดงสินค้าระหว่างประเทศตามวรรคหนึ่งหมายความว่า งานที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงหรือเสนอขายสินค้าแก่ผู้เข้าร่วมชมงาน และมีผู้เข้าร่วมในการแสดงหรือเสนอขายสินค้ามาจากประเทศตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป

กฏกระทรวงข้อ 12 ตรี ในกรณีที่ไม่อาจส่งเอกสารหลักฐานตามข้อ 12 ทวิ พร้อมกับคำขอจดทะเบียนได้ให้ผู้ขอจดทะเบียนทำหนังสือขอผ่อนผันตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมกับการขอจดทะเบียนและการขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 ทวิ ในกรณีนี้ให้นายทะเบียนมีอำนาจผ่อนผันได้ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน

ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนพิจารณาคำขอจดทะเบียนนั้นต่อไป โดยถือว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ประสงค์จะขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 ทวิ

6. การพิจารณาการแก้รายการในคำขอจดทะเบียน

การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในคำขอจดทะเบียนสามารถแก้ไขได้ในกรณีต่อไปนี้

1) เครื่องหมาย แก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่เป็นสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอแก้ไขโดยใช้แบบ ก.06 พร้อมแสดงเครื่องหมายที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย ให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่

2) จำพวกและรายการสินค้า แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีความชัดแจ้งให้ยื่นคำขอแก้ไขโดยใช้แบบ ก.06 กรณีเป็นการเพิ่มเติมรายการสินค้าให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่

3) แก้ไขกรณีอื่น ๆ เช่น ชื่อ/ที่อยู่เจ้าของ ชื่อ/ที่อยู่ตัวแทน สถานที่ติดต่อ แต่งตั้ง/ยกเลิกตัวแทนให้ยื่นคำขอแก้ไขโดยใช้แบบ ก.06 พร้อมหลักฐานประกอบการแก้ไข

แนวทางการพิจารณา

1) กรณีนายทะเบียนอนุญาตให้แก้ไขรูปเครื่องหมายและรูปเครื่องหมายมีขนาดเกิน 5x5 เซนติเมตรให้คิดค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินเพิ่มเซนติเมตรละ 200 บาท โดยคำนวณจากด้านกว้างและด้านยาว

2) เครื่องหมาย แก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นสาระสำคัญ เช่น รูปแบบ สัดส่วน ให้มีคำสั่งไม่อนุญาตและให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่ เนื่องจากก่อนยื่นคำขอผู้ขอจดทะเบียนได้ทบทวนรูปเครื่องหมายดีแล้ว

3) จำพวกและรายการสินค้า แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีความชัดแจ้งให้ยื่นคำขอแก้ไขโดยใช้แบบ ก.06 กรณีเป็นการเพิ่มเติมรายการสินค้า ให้มีคำสั่งไม่อนุญาตและให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่โดยอาจใช้ข้อความในลักษณะ ดังนี้ :

“ไม่อนุญาตแก้ไขรายการสินค้าตามแบบ ก.06 ลงวันที่... เนื่องจากรายการสินค้าลำดับที่...ไม่ปรากฏในคำขอจดทะเบียนตามแบบ ก.01 และไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพื่อให้รายการสินค้าชัดแจ้งยิ่งขึ้น กรณีดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มเติมรายการสินค้าตามมาตรา 11 ประกอบกฎกระทรวงข้อ 14 ซึ่งผู้ขอจดทะเบียนต้องยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่”

4) การพิจารณาคำขอแก้ไข (แบบ ก.06) หากเห็นว่าลายมือชื่อของผู้ขอแตกต่างไปจากคำขอจดทะเบียนแบบ ก.01 ให้มีคำสั่งให้ผู้ขอยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับลายมือชื่อนั้น โดยใช้แบบ ก.20

5) การขอเปลี่ยนชื่อเจ้าของเครื่องหมายซึ่งเป็นนิติบุคคลต่งประเทศ ต้องมีหลักฐานแสดงการเปลี่ยนชื่อนิติบุคคลที่มีการรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว (ทั้งนี้ อาจเป็นการรับรองโดยโนตารีปับลิก เจ้าของ หรือตัวแทนก็ได้ มาแสดงจึงจะอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการโอนสิทธิ์ในคำขอจดทะเบียนหรือในเครื่องหมายการค้าโดยที่ไม่ได้ทำโดยเจ้าของเครื่องหมายการค้า

6) การขอแก้ใขชื่อเจ้าของเครื่องหมายซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ เช่น “โซนี่ คาบูชิกิ ไกชา” แก้ไขเป็น “โซนี่ คอร์ปอเรชั่น” ต้องมีหนังสือชี้แจงจากเจ้าของเครื่องหมายว่าชื่อที่ขอแก้ไขนั้นเป็นนิติบุคคลเดียวกันและมีความประสงค์จะใช้ชื่อที่แก้ไขเป็นชื่อเจ้าของ โดยมีข้อความรับรองโนตารีปับลิก ทั้งนี้พร้อมส่งหนังสือมอบอำนาจใหม่ที่ระบุชื่อเจ้าของที่แก้ไขมาแสดง

7) กรณีขอแก้ไขชื่อ ที่อยู่ ของผู้ขอหรือตัวแทน (บุคคลธรรมดา ชื่อนิติบุคคล) ให้ส่งหลักฐานแสดงการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เช่น หนังสือเปลี่ยนชื่อ หนังสือรับรองนิติบุคล โดยไม่ต้องส่งหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่

8) กรณีการแก้ไขตัวสะกดหรือแก้ไขคำอ่านชื่อเจ้าของ ให้ส่งเอกสารประกอบด้วย เช่น คำแปลหนังสือมอบอำนาจ เป็นต้น

9) กรณีผู้ขอประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเจ้าของเครื่องหมาย ต้องยื่นคำขอโอนเครื่องหมายแบบ ก.04 จะขอแก้ไขโดยใช้แบบ ก.06 ไม่ได้ เช่น บริษัทจำกัด เปลี่ยนเป็น บริษัทมหาชน เนื่องจากถือว่าเป็นนิติบุคคลใหม่ เป็นต้น

7.การคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

ขั้นตอนการคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่อยู่ระหว่างการประกาศโฆษณาตามมาตรา 35 เป็นวิธีการหนึ่งในการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกมีสิทธิยื่นหนังสือขอให้เจ้าหน้าที่ทบทวนการใช้ดุลพินิจ วินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน เครื่องหมายการค้าเท่านั้น แต่ให้รวมถึงบุคคลโดยทั่วไปที่มีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมายด้วย

การคัดค้านและการโต้แย้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  กรณียื่นคำคัดค้านหรือโต้แย้งผ่านระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing)  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา

การยื่นคัดค้านคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด พ.ศ. 2560 

การคัดค้านและการโต้แย้ง ให้นำคู่มือในหมวด 2 มาใช้โดยอนุโลม

หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำคัดค้าน

การใช้สิทธิคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องยื่นคำคัดค้านตามแบบ ก.02 ต่อนายทะเบียนภายใน 60 วันนับแต่วันที่เครื่องหมายการค้าได้รับการประกาศโฆษณา โดยต้องแสดงเหตุ แห่งการคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดลงในใบต่อแบบ ก.11 ดังนี้

1) ตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่อยู่ระหว่างการประกาศโฆษณา หรือ
2) เครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6
3) การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

การยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียน ให้ยื่นคำคัดค้านพร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามกฎกระทรวง ข้อ 24 ดังต่อไปนี้

1) สำเนาคำคัดค้าน จำนวน 1 ชุด

สำหรับการยื่นคำคัดค้านผ่านทางระบบ e-Filing ให้ถือว่าเป็นการแนบสำเนาคำคัดค้านให้แก่ นายทะเบียนแล้ว (ประกาศกรม e-Filing ข้อ 8)

2) บัตรประจำตัว

(1) กรณีผู้คัดค้านเป็นบุคคลธรรมดา ใช้บัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่น ๆ

(2) กรณีผู้คัดค้านเป็นบุคคลต่างประเทศ ใช้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หนังสือเดินทาง หรือ บัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่

(3) กรณีผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลไทย ใช้สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกหนังสือรับรองนั้น หรือข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

(4) กรณีผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ ใช้ต้นฉบับหรือสำเนาหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำขึ้นใน ต่างประเทศฉบับที่มีโนตารีปับลิกให้คำรับรอง โดยมีข้อความรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศไว้ด้วย ยื่นพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย

3) การมอบอำนาจ (ถ้ามี)

(1) กรณีเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลไทย ใช้เอกสารตามข้อ (1) หรือ (3) พร้อมแนบสำเนา หนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประจำตัวหรือสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลของผู้รับมอบอำนาจ

(2) กรณีเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ ใช้เอกสารตามกฎกระทรวงข้อ 5 โดยมีการระบุข้อความรับรอง การเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศไว้ด้วยแล้ว (ไม่ต้องส่งหนังสือรับรองนิติบุคคล)

4) เอกสารหลักฐานประกอบคำคัดค้าน (ถ้ามี)

เอกสารหรือหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างตามประเด็นแห่งการคัดค้าน ตัวอย่างเอกสาร หลักฐานประกอบคำคัดค้าน เช่น เอกสารแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ เอกสาร แสดงการใช้ การโฆษณา หรือการประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้า ใบเสร็จรับเงิน ภาพถ่ายสินค้า เป็นต้น

แนวทางการพิจารณา

1) คำคัดค้านที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด นายทะเบียนจะมีคำสั่ง ตค. 6 ข้อ 1 พร้อมส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังผู้ขอจดทะเบียนโดยไม่ชักช้า สำหรับเอกสารหลักฐานประกอบคำคัดค้าน หากผู้ขอ ประสงค์จะตรวจสอบสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ที่กลุ่มบริการตรวจรับคำขอ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนคำคัดค้านที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด นายทะเบียนจะมีคำสั่ง ตค. 9 ข้อ 10 แจ้งผู้คัดค้าน ไม่รับคำคัดค้านและดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไป

2) การพิจารณาคำคัดค้าน (แบบฟอร์ม) บัตรประจำตัว หนังสือมอบอำนาจ ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการในหมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 1 การพิจารณาคำขอจดทะเบียน มาใช้โดยอนุโลม

3) คำคัดค้านที่มีข้อบกพร่องในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญจนถึงขนาดทำให้เป็นการยื่นคำคัดค้านที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายตาม 1) แล้ว นายทะเบียนจะมีคำสั่ง ตค. 9 ข้อ 10 แจ้งผู้คัดค้านให้ดำเนินการแก้ไขบกพร่อง ภายในระยะเวลาตามที่กำหนด

        ตัวอย่าง ความบกพร่องในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ
                (1) การระบุข้อมูลของผู้คัดค้านหรือตัวแทนของผู้คัดค้านในแบบ ก.02 ไม่ตรงกับหนังสือมอบอำนาจ
                (2) การใช้แบบฟอร์มไม่ถูกต้อง

4) การระบุข้อมูลเกี่ยวกับผู้คัดค้านหรือตัวแทนในแบบ ก.02 ต้องระบุให้สอดคล้องกับหนังสือมอบอำนาจ หากไม่สอดคล้องให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้แก้ไข โดยใช้แบบ ก.06 ก่อนนายทะเบียนจะมีคำสั่ง ตค. 6 ข้อ1 เพื่อส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังผู้ขอจดทะเบียน

5) คำคัดค้านที่มีบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจนถึงขนาดทำให้เป็นการยื่นคำคัดค้านที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายตาม 1) แล้ว ให้ถือว่าคำคัดค้านนั้นไม่มีเหตุแห่งการคัดค้านให้ต้องพิจารณา

        ตัวอย่าง ความบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
                (1) การยื่นคำคัดค้านก่อนเครื่องหมายการค้าจะได้รับการประกาศโฆษณา
                (2) การยื่นคำคัดค้านภายหลังครบกำหนดการประกาศโฆษณา
                (3) ไม่ระบุเหตุแห่งการคัดค้านหรือระบุไม่ชัดเจน

6) การยื่นคัดค้านโดยตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ หากไม่มีหนังสือมอบอำนาจมาพร้อมกับคำคัดค้าน ถือว่าเป็นคำคัดค้านที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตรา 35 ประกอบกฎกระทรวงข้อ 24

หากผู้คัดค้านมีเหตุผลจำเป็นที่ไม่อาจยื่นหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำคัดค้านได้ ให้ผู้คัดค้านแสดง เหตุผลความจำเป็นโดยใช้แบบ ก.20 และให้ผู้คัดค้านนำส่งหนังสือมอบอำนาจ ภายใน 15 วันนับแต่วันครบ กำหนดเวลาการประกาศโฆษณา โดยนายทะเบียนจะไม่ออกหนังสือแจ้งให้ส่งหนังสือมอบอำนาจ

หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำโต้แย้ง

เมื่อผู้ขอจดทะเบียนได้รับคำสั่ง ตค. 6 ข้อ 1 พร้อมสำเนาคำคัดค้านแล้ว ให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่น คำโต้แย้งตามแบบ ก.02 ต่อนายทะเบียนภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้าน โดยต้องแสดงเหตุที่ ตนอาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียนลงในใบต่อแบบ ก.11 พร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามกฎกระทรวง ข้อ 25 ดังต่อไปนี้

1) สำเนาคำโต้แย้งตามจำนวนของผู้คัดค้าน
สำหรับการยื่นคำโต้แย้งผ่านทางระบบ e-Filing ให้ถือว่าเป็นการแนบสำเนาคำโต้แย้งให้แก่นายทะเบียนแล้ว (ประกาศกรมฯ e-Filing ข้อ 8)

2) เอกสารหลักฐานประกอบคำโต้แย้ง (ถ้ามี)

กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนมิได้ยื่นคำโต้แย้งภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้านให้ถือว่าผู้ ขอจดทะเบียนละทิ้งคำขอจดทะเบียนซึ่งนายทะเบียนจะจำหน่ายคำขอนั้นออกจากสารบบการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าต่อไป

แนวทางการพิจารณา

1) คำโต้แย้งที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด นายทะเบียนจะมีคำสั่ง ตค. 9 ข้อ 4 พร้อมส่งสำเนาคำโต้แย้งไปยังผู้คัดค้านโดยไม่ชักช้า สำหรับเอกสารหลักฐานประกอบคำโต้แย้ง หากผู้คัดค้าน ประสงค์จะตรวจสอบสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ที่กลุ่มบริการตรวจรับคำขอ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา

ส่วนคำโต้แย้งที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด นายทะเบียนจะมีคำสั่ง ตค. 9 ข้อ 10 แจ้งผู้ขอจดทะเบียนไม่รับคำโต้แย้งและดำเนินการจำหน่ายคำขอนั้นออกจากสารบบการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าต่อไป

2) การพิจารณาคำโต้แย้ง (แบบฟอร์ม) ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการในหมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 1 การพิจารณาคำขอจดทะเบียน มาใช้โดยอนุโลม

3) คำโต้แย้งที่มีข้อบกพร่องในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญจนถึงขนาดทำให้เป็นการยื่นคำโต้แย้งที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายแล้วนายทะเบียนจะมีคำสั่ง ตค. 9 ข้อ 10 แจ้งผู้ขอจดทะเบียน ให้ดำเนินการแก้ไขบกพร่อง ภายในระยะเวลาตามที่กำหนด

ตัวอย่าง ความบกพร่องในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ
(1) การระบุข้อมูลของผู้โต้แย้งหรือตัวแทนในแบบ ก.02 ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของผู้ขอจดทะเบียน ในระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
(2) การใช้แบบฟอร์มไม่ถูกต้อง

4) คำโต้แย้งที่มีข้อบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจนถึงขนาดทำให้เป็นการยื่นคำโต้แย้งที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย

ตัวอย่าง ความบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
(1) กรณีผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งก่อนนายทะเบียนจะมีคำสั่ง ต.ค. 6 ข้อ 1
(2) กรณีผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งไม่ครบตามจำนวนของผู้คัดค้าน
(3) ไม่ระบุเหตุผลที่ตนใช้เป็นหลักในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายหรือเหตุผลที่ตนใช้โต้แย้งกล่าว อ้างของผู้คัดค้าน

หากผู้ขอจดทะเบียนไม่แก้ไขให้ถูกต้องภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้านให้ถือว่าผู้ขอ จดทะเบียนละทิ้งคำขอจดทะเบียนซึ่งนายทะเบียนจะจำหน่ายคำขอนั้นออกจากสารบบต่อไป

หลักฐานประกอบคำคัดค้านหรือคำโต้แย้ง

กรณีที่ผู้ยื่นคำคัดค้านหรือคำโต้แย้งประสงค์ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างให้นำส่ง พร้อมการยื่นคำคัดค้านหรือคำโต้แย้ง ทั้งนี้ อาจใช้แบบ ก.20 ระบุรายละเอียดและนำส่งเอกสารหลักฐาน ดังกล่าวก็ได้

กรณีไม่อาจส่งเอกสารหลักฐานพร้อมการยื่นคำคัดค้านหรือคำโต้แย้ง ให้ผู้คัดค้านหรือผู้ขอจดทะเบียน

ทำหนังสือขอผ่อนผันตามแบบ ก.19 ยื่นพร้อมคำคัดค้านหรือคำโต้แย้ง โดยขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 60 วันนับแต่ วันที่ยื่นหนังสือขอผ่อนผัน

กรณียื่นคำคัดค้านหรือคำโต้แย้งผ่านระบบ e-Filing หากผู้ยื่นคำขอประสงค์ส่งเอกสารหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาให้ส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวภายใน 15 วันนับถัดจากวันที่ได้ยื่นคำขอผ่าน ทางระบบ e-Filing เว้นแต่ผู้ยื่นคำขอจะได้มีหนังสือขอผ่อนผันการส่งหลักฐานดังกล่าวไว้ ให้ผู้ยื่นคำขอส่ง เอกสารหลักฐานดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ขอผ่อนผันไว้ (ประกาศกรมฯ e-Filing ข้อ 13)

การส่งเอกสารหลักฐาน ให้ใช้แบบหนังสือนำส่งเอกสารหลักฐานและคำชี้แจง (แบบ ก.20) กรณีส่ง ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงนายทะเบียน ให้ถือวันที่ประทับตราไปรษณีย์ตอบรับเป็นสำคัญ หรือกรณี นำส่งด้วยตัวเอง ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้ถือวันที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับ เอกสารหลักฐานเป็นสำคัญ

กรณีผู้คัดค้านหรือผู้ขอจดทะเบียนไม่ส่งเอกสารภายในกำหนดเวลา ให้นายทะเบียนพิจารณาต่อไป โดยไม่ต้องรอหรือไม่พิจารณาเอกสารหลักฐานดังกล่าว

แนวทางการพิจารณา

1) หนังสือมอบอำนาจไม่เป็นเอกสารหลักฐานประกอบคำคัดค้านตามกฎกระทรวงข้อ 24 (3)  

2) การนำส่งเอกสารที่ขอผ่อนผันในหลายคำขอพร้อมกัน ให้ส่งต้นฉบับเอกสารในคำขอแรก  ส่วนคำขออื่นให้ระบุว่าต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ในคำขอเลขที่ใด (กฎกระทรวงข้อ 6) 

3) การส่งสำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารประกอบคำคัดค้านหรือคำโต้แย้ง ผู้คัดค้านหรือผู้ขอจดทะเบียน ต้องรับรองความถูกต้องของสำเนาหรือภาพถ่ายนั้นด้วย (กฎกระทรวงข้อ 7)  

4) การส่งเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศผู้คัดค้านหรือผู้ขอจดทะเบียนต้องจัดให้มีคำแปลทั้งฉบับ หรือเฉพาะแต่ส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาไทย โดยมีคำรับรองของผู้แปลด้วยว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง  (กฎกระทรวงข้อ 8) 

กรณีนายทะเบียนมีข้อสงสัยอาจมีคำสั่งให้ส่งคำแปลเอกสารเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด  หากไม่ส่งเอกสารภายในกำหนดเวลาให้นายทะเบียนพิจารณาต่อไปโดยไม่ต้องรอหรือไม่พิจารณาเอกสาร หลักฐานดังกล่าว

 5) การยื่นคำคัดค้านไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณา อนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ผู้คัดค้านจึงไม่สามารถทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมกรณีคำขอมีข้อบกพร่อง หรือเอกสารประกอบคำขอคัดค้านไม่ครบถ้วน เพื่อขยายระยะเวลาให้ผู้ขอดำเนินการแก้ไขหรือส่งหลักฐานได้

อำนาจนายทะเบียนชั้นคัดค้าน

ในการพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้าน นายทะเบียนจะมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านมาให้ ถ้อยคำทำคำชี้แจง หรือแสดงหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้ หากผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ นายทะเบียนภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง ให้นายทะเบียนพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้านต่อไป ตามหลักฐานที่มีอยู่ 

ค่าธรรมเนียม

การยื่นคำคัดค้านมีค่าธรรมเนียมคำคัดค้าน คำขอละ 2,000 บาท ส่วนการยื่นคำโต้แย้งไม่มี ค่าธรรมเนียม

การพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้าน

เมื่อคำคัดค้านและคำโต้แย้งที่ยื่นต่อนายทะเบียนถูกต้องสมบูรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว จะดำเนินการ ดังนี้

1) วิเคราะห์ประเด็นในคำคัดค้านและคำโต้แย้งพร้อมทั้งพิจารณาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ผู้คัดค้าน และผู้โต้แย้งนำส่งเพื่อจัดทำสรุปข้อเท็จจริงและนำเข้าที่ประชุม

2) ที่ประชุมประกอบด้วยผู้อำนวยการกองเครื่องหมายการค้าในฐานะนายทะเบียน หัวหน้า กลุ่มคัดค้านและเจ้าหน้าที่ โดยจะพิจารณาวินิจฉัยและมีมติว่าให้ยกคำคัดค้านหรือระงับการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดทำร่างคำวินิจฉัยเสนอนายทะเบียน เพื่อพิจารณาลงนามต่อไป

3) เมื่อนายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยแล้วให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียน และผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า

4) ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการ เครื่องหมายการค้าภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน เมื่อคณะกรรมการฯ ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอ จดทะเบียนและผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวของ คณะกรรมการฯ โดยฟ้องคดีต่อศาลภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ การฟ้องคดีต่อศาลจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านใช้สิทธิ

อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ นายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า

5) ผู้คัดค้านอาจถอนคำคัดค้านในเวลาใด ๆ ก่อนที่นายทะเบียนจะมีคำวินิจฉัยก็ได้ โดยให้ทำเป็น หนังสือลงลายมือชื่อของผู้คัดค้านหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ เมื่อนายทะเบียนอนุญาตแล้ว ให้มีหนังสือแจ้ง ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านทราบต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ไม่มีประเด็นการคัดค้านให้ พิจารณา

6) ผู้ขอจดทะเบียนอาจถอนคำขอจดทะเบียนหรือถอนคำโต้แย้งในเวลาใด ๆ ก่อนที่นายทะเบียนจะมี คำวินิจฉัยก็ได้ โดยให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียนหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ เมื่อ นายทะเบียนอนุญาตแล้วให้มีหนังสือแจ้งผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านทราบต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้ไม่มีประเด็นการคัดค้านให้พิจารณา


Tags

รับจดเครื่องหมายการค้า, สัญลักษณ์ ลิขสิทธิ์, เครื่องหมาย ตราสินค้า, เครื่องหมาย บริการ, เครื่องหมายการค้า, เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์, เครื่องหมายการค้า โลโก้, trademark, เช็คเครื่องหมายการค้า, จดชื่อแบรนด์, จดทะเบียน trademark, จดทะเบียน โลโก้, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า, จดลิขสิทธิ์ โลโก้, จดเครื่องหมายการค้า, จดแบรนด์สินค้า


ก้าวสำคัญของธุรกิจคุณ ... ให้เราดูแลที่  Thai Tax Law