fbpx

เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน


          เมื่อพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว ลำดับต่อมาคือการพิจารณาลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังนั้นจึงต้องใช้อย่างเคร่งครัด โดยเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตาม (1)- (13) ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน ซึ่งมีบางเป็นบทต้องห้ามเด็ดขาด บางเป็นบทต้องห้ามที่มีเงื่อนไข

Trademark Cover - เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน

          สำหรับการปฏิเสธตามมาตรา 17 จะไม่นำมาใช้กับมาตรา 8 เนื่องจากมาตรา 17 ใช้เฉพาะกรณีเครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แต่มีบางส่วนของเครื่องหมายเป็นสิ่งสามัญในการค้าขายหรือมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ ซึ่งเป็นดุลพินิจของนายทะเบียนที่ จะสั่งให้แสดงปฏิเสธตามมาตรา 17 หรือสั่งไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา 7 แต่กรณีเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 จะมีผลให้เครื่องหมายการค้านั้นไม่มีลักษณะอันพึ่งรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 นายทะเบียนจึงไม่จำต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 17 เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นโดยสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแสดงปฏิเสธในส่วนประกอบของเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามรับจดทะเบียนกำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อเครื่องหมายมีลักษณะต้องห้าม นายทะเบียนจะสั่งให้ผู้ขอแสดงปฏิเสธภาคส่วนนั้นไม่ได้

มาตรา 8 (1)

ตราแผ่นดิน พระราชลัญจกร ลัญจกรในราชการ ตราจักรี ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราประจำตำแหน่ง ตราประจำกระทรวง ทบวง กรม หรือตราประจำจังหวัด

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (1) ตราแผ่นดิน

ตราแผ่นดิน หมายถึง ตราประจำประเทศ

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (1) พระราชสัญจกร

พระราชสัญจกร หมายถึง ตราประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์ทรงใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธย และประทับกำกับเอกสารสำคัญที่ออกในพระปรมาภิไธย

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (1) ตราเครื่องราชอิสริยากรณ์

ตราเครื่องราชอิสริยากรณ์

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (1) ตราจักรี

ตราจักรี หมายถึง ตราราชวงศ์จักรี

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (1) ตราประจำตำแหน่ง

ตราประจำตำแหน่ง

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (1) ตราประจำกระทรวง

ตราประจำกระทรวง

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (1) ตราประจำจังหวัด

ตราประจำจังหวัด

 

มาตรา 8 (2)

ธงชาติของประเทศไทย ธงพระอิสริยยศ หรือธงราชการ

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (2) ธงชาติ

ธงชาติของประเทศไทย หมายถึง ธงชาติของประเทศไทยยุคสมัยต่าง ๆ

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (2) ธงราชการ

ธงราชการ หมายถึง ธงที่ใช้ในราชการต่าง ๆ เช่น ธงลูกเสือ ธงประจำกรม กองต่าง ๆ ธงประจำจังหวัด ธงประจำกองทัพ

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (2) ธงพระอิริยยศ
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (2) ธงพระอิริยยศ 2

ธงพระอิริยยศ หมายถึง ธงมหาราช ธงราชินี ธงเยาวราช ธงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา 8 (3)

พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ พระนามาภิไธยย่อ หรือ นามพระราชวงศ์ หมายถึง พระนาม พระนามย่อของพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (3) พระปรมาภิไธย

มาตรา 8 (4)

พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท

หมายถึง รูปถ่าย หรือรูปวาดของพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือรัชทายาท ทั้งนี้ให้พิจารณาจากราชวงศ์ไทย

มาตรา 8 (5)

ชื่อ คำ ข้อความ หรือเครื่องหมายใด อันแสดงถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือพระราชวงศ์

ทั้งนี้ ให้พิจารณาจากราชวงศ์ของประเทศไทยโดยเคร่งครัด แม้จะได้รับพระราชทานชื่อก็ต้องห้ามตามมาตรานี้ เช่น คำว่า ในหลวง พระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวง ร.๙ ร.๑๐ หรือ ...เพื่อพ่อ รวมถึงชื่อพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ด้วย เช่น โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โครงการแก้มลิง โครงการชั่งหัวมัน

มาตรา 8 (6)

ธงชาติหรือเครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศ ธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศ ตราประจำประมุขของรัฐต่างประเทศ เครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือชื่อและชื่อย่อของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศนั้น แยกพิจารณาดังนี้

1) ธงชาติหรือเครื่องหมาย

(1) ธงชาติของรัฐต่างประเทศ หมายถึง ธงชาติของประเทศต่าง ๆ เช่น

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (6) ธงชาติต่างชาติ

(2) เครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศ หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศต่าง ๆ เช่น

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (6) เครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศ

(2) เครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศ หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศต่าง ๆ เช่น

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (6) ธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศ
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (6) ธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศ 2

(3) ธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศ หมายถึง ธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น เครื่องหมายที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเครื่องหมายองค์การการค้าโลก

แนวทางการพิจารณา

พิจารณาจากรูปเครื่องหมาย หากเห็นว่ามีลักษณะเป็นรูปธง หรือแถบสีที่เป็นแถบสีของธงชาติ ให้มีคำสั่งตามมาตรา 8 (6) ประกอบมาตรา 16 โดยไม่ต้องระบุเงื่อนไขในคำสั่งว่า สามารถแก้ไขรูปเครื่องหมายเพื่อให้ไม่เป็นเครื่องหมายต้องห้ามรับจดทะเบียน แต่หากผู้ขอประสงค์จะแก้ไขรูปเครื่องหมายโดยตัดภาคส่วนที่มีลักษณะต้องห้ามออก ให้ยื่นแบบ ก.06 แก้ไขรูปเครื่องหมาย พร้อมแบบ ก.20 ชี้แจงเพื่อให้ไม่เป็นเครื่องหมายต้องห้ามรับจดทะเบียนตามมาตรา 8

ตัวอย่าง ลักษณะรูปธงในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีลักษณะต้องห้าม

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (6) ลักษณะรูปธงในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีลักษณะต้องห้าม

2) ชื่อและชื่อย่อของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ

(1) ชื่อของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
(2) ชื่อย่อของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เช่น USA/US/U.S./UK/U.K. แต่ไม่รวมอักษรย่อที่ประชาชนทั่วไปใช้ เช่น CN, KR, JP, FR, NZ, CA

3) เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือองค์การ
ระหว่างประเทศนั้น

เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) มิได้เป็นบทบัญญัติบังคับห้ามโดยเด็ดขาด กล่าวคือ หากได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อรัฐต่างประเทศ ธงชาติหรือเครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศนั้นจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของชื่อนั้น

1) กรณี “ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ” หมายถึง ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น สถานทูตที่ประจำ ณ ประเทศไทย สถานกงสุล สำนักงานหรือหน่วยงานด้านการพาณิชย์ของประเทศนั้น เป็นต้น

หนังสืออนุญาตอย่างน้อยต้องมีข้อความในลักษณะ ดังต่อไปนี้
      (1) “ผู้อนุญาตเป็นหน่วยงานราชการของรัฐบาล และมีอำนาจในการอนุญาตให้บุคคลใดนำชื่อประเทศ/ธง/สัญสักษณ์ของตนไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า” และ “อนุญาตให้บริษัท...นำคำว่า JAPAN มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า” หรือ ข้อความอื่นในลักษณะเดียวกันระบุไว้ หรือ
      (2) ข้อความรับรองการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ เช่น สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล สำนักงานหรือหน่วยงานของรัฐนั้น

2) กรณี “ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ” หมายถึง ประธานผู้อำนวยการ หรือ ผู้ที่ประธานหรือผู้อำนวยการมอบหมาย เช่น ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เป็นต้น

หนังสืออนุญาตอย่างน้อยต้องมีข้อความในลักษณะ ตังต่อไปนี้
      (1) “ผู้อนุญาตเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศและมีอำนาจในการอนุญาตให้บุคคลใดนำเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศของตนไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า” และ “อนุญาตให้บริษัท … นำคำว่า ... มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า” หรือ ข้อความอื่นในลักษณะเดียวกันระบุไว้ หรือ

(2) ข้อความรับรองการได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศเช่น ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เป็นต้น

ตัวอย่าง กรณีเป็นผู้มีอำนาจ

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (6) กรณีเป็นผู้มีอำนาจจากรัฐ

ตัวอย่าง กรณีเป็นผู้ไม่มีอำนาจ

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (6) กรณี ไม่ใช่ ผู้มีอำนาจจากรัฐ

แนวทางการพิจารณา

1) เครื่องหมายที่ประกอบด้วยชื่อรัฐต่างประเทศ หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งของชื่อทางราชการของรัฐต่างประเทศด้วย ตัวอย่าง คำว่า “INDIA” ที่ออกเสียงได้ว่า อินเดีย มีความหมายสื่อว่าเป็นชื่อของประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย หรือ Republic of India แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของชื่อทางราชการของประเทศอินเดีย แต่สาธารณชนทั่วไปรับรู้และเข้าใจ ทั้งเป็นที่นิยมเรียกกันว่าประเทศอินเดีย หรือ INDIA คำว่า “INDIA” จึงเป็นชื่อของรัฐต่างประเทศ

2) เครื่องหมายที่ประกอบด้วยชื่อรัฐต่างประเทศ ให้มีคำสั่งตามมาตรา 8 (6) และมาตรา 7 วรรคสอง (2)

ตัวอย่าง เครื่องหมายที่ปฏิเสธการรับจดทะเบียนคำว่า 

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (6) เครื่องหมายที่ปฏิเสธการรับจดทะเบียน

 “SINGAPORE” แปลว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชื่อของรัฐต่างประเทศ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ขอได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของประเทศสิงคโปร์ให้นำคำว่า “SINGAPORE” มาใช้เป็นชื่อทางการค้า จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม มาตรา 8 (6) (ฎ.9971/2558 SINGAPOREAIR)

3) เครื่องหมายที่ประกอบด้วยคำแสดงที่มาของสินค้า เช่น From China, Made in Japan ไม่ถือว่าเป็นเครื่องหมายที่มีหรือประกอบด้วยชื่อของรัฐต่างประเทศตามมาตรา 8 (6) แต่หากพิจารณาแล้วปรากฏว่าคำแสดงที่มาของสินค้าไม่ตรงกับถิ่นที่อยู่ของผู้ขอ เช่น ผู้ขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แต่ใช้คำว่า Made in USA ให้ถือว่าเป็นเครื่องหมายที่มีหรือประกอบด้วย คำบรรยายที่ทำให้สับสนในแหล่งกำเนิดของสินค้าตาม มาตรา 8 (13) เว้นแต่ ผู้ขอจะส่งหลักฐานยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าที่ปรากฏในเครื่องหมาย จึงสั่งให้สละสิทธิ คำดังกล่าวได้

หมายเหตุ

1) มาตรา 6 ตรี (Article 6ter)ของอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม (Paris Convention for Protection of Industrial Property : Paris Convention) กำหนดให้มีการแจ้ง ขอรับความคุ้มครอง สัญลักษณ์ เครื่องหมาย เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญา กรุงปารีสฯ และภาคีองค์การการค้าโลก โดย Article 6ter ให้ความคุ้มครองแก่
        (1) ธงชาติ ได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องแจ้งขอรับความคุ้มครอง
        (2) ตราอาร์ม ตราที่เกี่ยวกับความป็นรัฐ สัญลักษณ์และตรามาตรฐานที่เป็นทางการที่แสดงถึงการควบคุมและการรับประกันซี่งได้ประกาศใช้โดยรัฐนั้น โดยเครื่องหมายเหล่านี้จะต้องมีการแจ้งขอรับความคุ้มครองตาม Article 6ter (3) (a)
        (3) เครื่องหมายที่ได้รับการคุ้มครอง Article 6ter แล้ว จะได้รับความคุ้มครองในภาคีอนุสัญญากรุงปารีสฯ และภาคีองค์การการค้าโลก ประเทศภาคีฯ จะต้องไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าว

2) สามารถดูรูปธงและตราสัญลักษณ์ ชื่อย่อขององค์กรระหว่างประเทศ ที่ต้องห้ามไม่สามารถรับจดทะเบียนได้เพิ่มเติมได้ที่ https://www3.wipo.int/branddb/en/
        (1) เลือก Filter by WO 6TER
        (2) เลือก Filter จะปรากฏรูปทั้งหมด โดยสามารถเลือกแยกตามประเทศได้

มาตรา 8 (7)

เครื่องหมายราชการ เครื่องหมายกาชาด นามกาชาด หรือกาเจนีวา

1) เครื่องหมายราชการ หมายถึง ตราที่ใช้ในราชการซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นเครื่องหมายราชการ

2) เครื่องหมายกาชาด หมายถึง กากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใข้แสดงสำหรับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณะสุขของสภากาชาด หรือกาชาดระหว่างประเทศ

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (7) เครื่องหมายกาชาด

2) เครื่องหมายกาชาด หมายถึง กากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใข้แสดงสำหรับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณะสุขของสภากาชาด หรือกาชาดระหว่างประเทศ

3) นามกาชาด หมายถึง คำ “กาชาด” หรือ “กาเจนีวา”และให้รวมถึงคำว่า “กากบาทแดง” “ซีกวงเดือนแดง” “สิงห์โตแดงและดวงอาทิตย์” (พระราชบัญญัติกาชาด พ.ศ. 2499)

แนวทางการพิจารณา

พิจารณาจากลักษณะและสีของเครื่องหมาย ดังนี้

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (7) กรณีที่ 1 กากบาทสีแดงบนพื้นขาว

กรณีที่ 1 กากบาทสีแดงบนพื้นขาว ให้มีคำสั่งมาตรา 8 (7) เครื่องหมายกาชาด

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (7) กรณีที่ 2 กากบาทสีขาวบนพื้นแดง

กรณีที่ 2 กากบาทสีขาวบนพื้นแดง ให้มีคำสั่งมาตรา 8 (7) เครื่องหมายกาชาด
ประกอบมาตรา 8 (1 1) และคล้ายกับธงชาติประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มาตรา 8 (6) ประกอบ มาตรา 8 (11)

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (7) กรณีที่ 3 กากบาทสีเขียวบนพื้นขาว หรือสีขาวบนพื้นเขียว

กรณีที่ 3 กากบาทสีเขียวบนพื้นขาว หรือสีขาวบนพื้นเขียว หมายถึง เครื่องหมายแสดงความปลอภัย, ทางการแพทย์ ให้มีคำสั่งมาตรา 7 วรรคแรก สัญลักษณ์ที่ทุกคนใช้ร่วมกัน

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (7) กรณีที่ 4 กรณีกากบาทสีขาว-ดำ หรือ สีอื่น

กรณีที่ 4 กรณีกากบาทสีขาว-ดำ หรือ สีอื่น ๆ เช่น ให้พิจารณาจากลักษณะการจัดวางในเครื่องหมาย เป็นกรณี ๆ ที่กล่าวไว้ในมาตรา 7

มาตรา 8 (8)

เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง
ประกาศนียบัตร

เครื่องหมายอื่นใด อันได้รับเป็นรางวัลในการแสดงหรือประกวดสินค้าที่รัฐบาลไทย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศได้จัดให้มีขึ้น เว้นแต่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้รับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือ
เครื่องหมายเช่นว่านั้น เป็นรางวัลสำหรับสินค้านั้นและใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้านั้น แต่ทั้งนี้ ต้องระบุปีปฏิทินที่ได้รับรางวัลด้วย

แนวทางการพิจารณา

1) พิจารณาจากรูปเครื่องหมาย หากเห็นว่ามีลักษณะเหมือนหรือคล้ายเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือ เครื่องหมายอื่นใด ให้มีคำสั่งตามมาตรา 8 (8) ประกอบมาตรา 16 โดยไม่ต้องระบุเงื่อนไขในคำสั่งว่าสามารถแก้ไขรูปเครื่องหมายเพื่อให้ไม่เป็นเครื่องหมายต้องห้ามรับจดทะเบียน แต่หากผู้ขอประสงค์จะแก้ไขรูปเครื่องหมายโดยตัดภาคส่วนที่มีลักษณะต้องห้ามออก ให้ยื่นแบบ ก.06 แก้ไขรูปเครื่องหมาย พร้อมแบบ ก.20 ชี้แจงเหตุผลในการขอแก้ไขเครื่องหมาย

2) คำว่า “ทั้งนี้ ต้องระบุปีปฏิทินที่ได้รับรางวัลด้วย” มีความหมายว่า ต้องระบุปีปฏิทินในเครื่องหมาย

3) ต้องเป็นรางวัลในการแสดงหรือการประกวดสินค้าที่รัฐบาลไทย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศได้จัดให้มีขึ้น ถึงจะพิจารณาตามมาตรา 8 (8) แต่ไม่รวมถึงรางวัลในการแสดงหรือการประกวดสินค้าที่เอกชนจัดขึ้น

ตัวอย่าง

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (8) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง

มาตรา 8 (9)

เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือ
รัฐประศาสโนบาย

อนุมาตรานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันหรือไม่ต้องการให้นำสิ่งที่เป็นของส่วนรวมหรือสิ่งที่อาจจะกระทบต่อส่วนรวมมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า ซึ่งอนุมาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่กว้าง คือ หากไม่เข้าอนุมาตราอื่นก็จะใช้อนุมาตรานี้ ทั้งนี้ ยังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่ให้นิยามของในเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจนจึงเป็นหลักการให้พิจารณา โดยมีตัวอย่างคำอธิบาย เช่น

คำว่า “รัฐประศาสโนบาย” มาจากคำว่า “Public policy” ซึ่งหมายถึง นโยบายของรัฐจะใช้เมื่อเป็นกรณีที่มีความโน้มเอียงที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชน เป็นภัยต่อผลประโยชน์ของประเทศก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือประเทศโดยที่กฎหมายปฏิเสธบังคับหรือรับรู้ และให้รวมถึงพฤติการณ์ที่ไม่สุจริตในการจดทะเบียนที่ไม่เข้าอนุมาตราอื่นด้วย

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2554 ระบุว่า “รัฐประศาสโนบาย” คือ วิธีการปกครองบ้านเมือง ดังนั้นรัฐผู้ใช้อำนาจปกครองจึงควรวางรัฐประศาสโนบายหรือนโยบายแห่งรัฐเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ภายใต้แนวคิดที่ว่าประชาชนได้ประโยชน์และความยุติธรรมในชีวิตโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐดำเนินการตรากฏหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน

ส่วนคำว่า “ความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ถือเป็นข้อห้ามซึ่งสังคมบังคับแก่เอกชนเป็นการแสดงว่าสังคมย่อมอยู่เหนือเอกชน เพื่อให้สังคมอยู่ได้ และความสงบเรียบร้อยจะต้องเป็นความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ใช่เรื่องของเอกชนหมู่ใดหมู่หนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นสิ่งที่สังคมประสงค์จะให้มีเพื่อความคงอยู่ของสังคมและความสงบสุขของผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคม หรืออาจกล่าวไต้ว่าความสงบเรียบร้อยของประชาชนมีความมุ่งหมายที่จะใช้กับกรณีมื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมขัดกับผลประโยชน์ของส่วนตัว ผลประโยชน์ของส่วนรวมย่อมมีความสำคัญกว่าและการใดที่ขัดกับความประสงค์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ได้อธิบายหลักการของความสงบเรียบร้อยของประชาชน (Public order) ว่าเป็นกฎเกณฑ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย มุ่งคุ้มครองการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมหรือในประเทศชาติ เพื่อให้เกิดความมั่นคง (Security) ความสงบสุข (Tranquility) สันติภาพ (Peace) และสุขภาวะ (Public Health) ร่วมกันของคนในสังคมการกระทำใดที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคง ความไม่สงบสุขความวุ่นวายหรือบ่อนทำลายสุขภาวะอันจะมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

สำหรับคำว่า “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2554 ระบุว่า “ศีลธรรม” คือ ความประพฤติที่ดีที่ชอบ ดังนั้น จึงอาจหมายความถึงความสามารถทางสติปัญญาในการแสดงออกของพฤติกรรมว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควรหรือไม่ควร หรือความรู้ผิดชอบชั่วดีเมื่อมีความชัดแย้งดังกล่าวขึ้นก็ใช้เหตุผลทางศีลธรรมมาใช้ในการตัดสิน ศีลธรรมจึงเป็นความรู้สึกภายในใจของบุคคลทั่วไปว่าการกระทำนั้นผิดหรือถูกอย่างไร หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการรับรู้ (Common sense) ของบุคคลทั่วไป คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย อธิบายหลักการของ ศีลธรรมอันดีของประชาชน (Good morals) ว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่คนในสังคมส่วนใหญ่ถือปฏิบัติตามความเชื่อ ตามประเพณี หรือศาสนา และถือว่าเป็นเครื่องวินิจฉัยความประพฤติว่าถูกต้องหรือไม่ ปกติการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมทำให้นิติกรรมเสียไป แต่การกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนจะเป็นความผิดอาญาก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอันอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคง ความไม่สงบสุข ความวุ่นวายในสังคมได้ ศีลธรรมอันตีของประชาชนนี้อาจมีวิวัฒนาการได้ตามยุคสมัยและตามพื้นที่

การพิจารณาตามอนุมาตรานี้ แบ่งได้เป็น 2 กรณี

กรณีพิจารณาจากลักษณะที่ปรากฎอยู่ในตัวเครื่องหมาย

มีลักษณะต้องห้ามรับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (9) หรือไม่ กรณี คำ ภาพ เสียง ที่เกี่ยวกับสิ่งดังนี้ เช่น

- เกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ภาพที่สื่อถึงสิ่งเสพติด เช่น เฮโรอีน ยาบ้า หรือ ภาพที่สื่อถึงการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ภาพการทำร้ายร่างกาย ภาพการใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่น ๆที่ผิดกฎหมาย

- เกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ (ความเชื่อในระดับสากล) เช่น รูปพระพุทธรูป รูปเทพเจ้า รูปอันเป็นที่เคารพบูชาทางศาสนา พระพิฆเนศ เจ้าแม่กวนอิม บทสวดมนต์ ภาษาบาสีสันสกฤต รูปยันต์ต่าง ๆ เครื่องหมายอุณาโลม ไม้กางเขน สถานที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา ไม่รวมถึงชื่อตำแหน่งทางศาสนา

- เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เช่น สัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ชื่อองค์การก่อการร้าย นาซี

- การลามกอนาจาร ในเชิงลามกอนาจาร โป๊เปลือยในทางมีเพศสัมพันธ์ หรือยั่วยวน ความไม่สุภาพ

- เครื่องหมายคำที่อาจผวนแล้วมีความหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ก็อาจไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (9) ได้

ตัวอย่าง

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) ศ่าสนา 1
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) สัญลักษณ์การเมือง ก่อการร้าย
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) ศ่าสนา 3
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) ศ่าสนา 4
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) ศ่าสนา 2

กรณีพิจารณาจากพฤติการณ์ในการจดทะเบียน

การพิจารณาพฤติการณ์ของผู้ขอจดทะเบียนในขณะยื่นขอจดทะเบียน พฤติการณ์ที่มีลักษณะต้องห้าม เช่น พฤติการณ์ไม่สุจริต ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยต้องพิจารณาประกอบกับหลักฐานต่าง ๆ จนเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนมีเจตนาไม่สุจริต

1) กรณี คำ ภาพ เสียง ที่ถือว่าผู้ขอมีพฤติการณ์ไม่สุจริต
         (1) การนำเครื่องหมายเกี่ยวกับสิ่งที่ส่วนรวมมีสิทธิใช้ร่วมกันมาจดทะเบียนเป็นของตนเอง เช่น
                  - สัญลักษณ์ของประเทศ (Landmark) เช่น รูปสิงโตพ่นน้ำของประเทศ สิงคโปร์ รูปสฟิงค์ของประเทศอียิปต์ รูปเทพีเสรีภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อเมืองมรดกโลก สิ่งมหัศจรรย์ของโลก รูปอนุสาวรีย์
                  - สัญลักษณ์หรือยศของทางราชการ สัญลักษณ์ความปลอดภัยทางการแพทย์ยศทางราชการ สัญลักษณ์ทางการแพทย์

ตัวอย่าง

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) สัญลักษณ์ของประเทศ 1
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) สัญลักษณ์ทางราชการ
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) สัญลักษณ์ของประเทศ 2
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) สัญลักษณ์ของประเทศ 3
ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) สัญลักษณ์ของประเทศ 4

ตัวอย่าง กรณีเครื่องหมายที่ไม่คล้ายกับยศทางราชการ

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (9) สัญลักษณ์ไม่คล้าย ยศราชการ

2) กรณีการนำเครื่องหมายของคนอื่นมาจดทะเบียนเป็นของตน เช่น เครื่องหมายที่มีคำหรือเครื่องหมาย Facebook Line Instragram ประกอบอยู่ด้วย

           (1) พิจารณาว่าเครื่องหมายของบุคคลอื่นนั้นได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ หากยังไม่ได้รับการจดทะเบียน ให้นายทะเบียนพิจารณาตามปกติ
           (2) เครื่องหมายของบุคคลอื่นนั้นได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว และข้อเท็จจริงปรากฏต่อนายทะเบียน เช่น พิจารณาคำขอต่อเนื่องกันแล้วพบว่ามีเครื่องหมายที่มีลักษณะเหมือนกัน (บล็อคเดียวกัน) ในจำพวกอื่น ให้นายทะเบียนมีคำสั่งตามมาตรา 8 (9) โดยไม่สั่งมาตรา 8 (13) แต่หากเครื่องหมายแตกต่างเพียงเล็กน้อยไม่ต้องมีคำสั่งตามมาตรา 8 (9)

3) กรณีขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตน การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นโดยวิธีใด ๆ อันไม่สุจริตและนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตน ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย จึงต้องห้ามรับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (9)

มาตรา 8 (10)

เครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

เครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดหรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าวจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของ หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม

เป็นบทบัญญัติห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และห้ามนายทะเบียนโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะได้รับจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดแล้วหรือไม่

1) พิจารณาจากประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ลงวันที่ 21 กันยายน 2547 กำหนดว่าการพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ดังต่อไปนี้

          (1) สินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นจะต้องมีการจำหน่ายหรือมีการใช้หรือมีการโฆษณา หรือได้มีการใช้เครื่องหมายโดยวิธีใด เช่น ใช้เป็นเครื่องหมายของทีมฟุตบอล เป็นต้น อย่างแพร่หลายตามปกติโดยสุจริต ไม่ว่าจะกระทำโดยเจ้าของหรือผู้แทนหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายนั้น
ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศจนทำให้สาธารณชนทั่วไป หรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี
          (2) เครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภคทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยออกระเบียบว่าด้วยการแจ้งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2548 แม้กรมฯ ได้มีประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการแจ้งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป พ ศ. 2548 ลงวันที่ 9 กันยายน 2558 แล้วก็ตาม แต่ประกาศฯ ยกเลิกระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้นายทะเบียนใช้เครื่องหมายที่ได้รับแจ้งเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาได้

2) แนวทางการพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งกำหนดแนวทางการพิจารณาไว้

แนวทางการพิจารณา

1) กรณีเครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามบัญชีการแจ้งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป พ.ศ. 2548 หรือ บัญชีเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ให้นายทะเบียนพิจารณาไปตามบัญชีนั้น

2) หากเครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกันไม่ใช่เครื่องหมายที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงนั้นแล้ว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งพิจารณาตามประกาศกระทรวง และแนวทางการพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า

3) การพิจารณาหลักฐานความแพร่หลายจากคำขออื่น เครื่องหมายและรายการสินค้าต้องมีลักษณะเหมือนกัน จึงจะสามารถอ้างอิงได้

มาตรา 8 (11)

เครื่องหมายที่คล้ายกับ (1)(2)(3)(4)(5)(6) หรือ (7)

มาตรา 8 (12)

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการจดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทย การนำชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ใด้รับการจดทะเบียนแล้ว มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้จึงเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามมีให้รับจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หมายความว่า ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว

ตัวอย่าง

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง ไข่เค็มไชยา มะขามหวานเพชรบูรณ์ ข้าวหอมมะสิสุรินทร์ กาแฟตอยช้าง เสื่อจันทบูร ลองกอง ตันหยงมัส มุกภูเก็ต กาแฟตงมะไฟ ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี Champagne Napa Valley Pisco

แนวทางการพิจารณา

1) ชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการจดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทย หากเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่างประเทศที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยให้นายทะเบียนมีคำสั่งตามมาตรา 8 (13) หรือ มาตรา 8 (9) แล้วแต่กรณีโดยไม่สั่งมาตรา 8 (12)

2) ต้องเป็นถ้อยคำหรือข้อความที่เหมือนกับชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ทั้งนี้ คำที่ขอจดทะเบียนอาจเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ด้วย จึงต้องพิจารณามาตรา 7 วรรคสอง (2) ประกอบด้วย

มาตรา 8 (13)

เครื่องหมายอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

แยกพิจารณาได้ดังนี้

ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2543) เรื่อง เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน

1) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อเภสัชภัณฑ์สากลที่องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นสงวนสิทธิการครอบครองไว้

     หมายเหตุ     สามารถดูชื่อเภสัชภัณฑ์สากลที่ต้องห้ามไม่สามารถรับจดทะเบียนได้เพิ่มเติมได้ที่ https://www3.wipo.int/branddb/en/

     (1) เลือก Filter by WHO INN
     (2) เลือก Filter จะปรากฎรายชื่อทั้งหมด โดยให้เลือก Status เป็น Active แล้วเลือก Fiter อีกครั้ง

2) เครื่องหมายและคำบรรยายซึ่งอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้าหรือบริการ หรือสับสนหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดหรือความเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ แยกพิจารณาได้ 3 กรณี ดังนี้

     (1) เครื่องหมายและคำบรรยายอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดเกี่ยวกับ “ชนิด” ของสินค้าหรือบริการ โดยพิจารณาความหมายของคำหรือรูปที่ปรากฏในเครื่องหมายและลักษณะทางกายภาพของสินค้าหรือบริการตามรายการที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ประกอบกันว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในชนิดของสินค้าได้หรือไม่

แนวทางการพิจารณา

กรณี 1 คำขอมีสินค้าหรือบริการหลายจำพวกและหรือหลายรายการ เช่น เครื่องหมายที่มีคำว่า Chocolate ประกอบอยู่ด้วย หากนำมาใช้กับจำพวกที่ 29 สินค้า น้ำมันที่รับประทานได้ และจำพวก 30 สินค้า ช็อกโกแลต ชา กาแฟ หากมีรายการสินค้าใดสินค้าหนึ่งเมื่อพิจารณาถึงเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียนแล้วเห็นว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในชนิดของสินค้าได้ ให้ถือว่าเป็นเครื่องหมายต้องห้ามรับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (13)

ตัวอย่าง กรณีไม่สับสน

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (13) กรณีไม่สับสน

มีลักษณะคล้ายกับรูปรองเท้าแตะก็ตาม แต่เมื่อนำมาใช้สินค้าจำพวกที่ 18 รายการสินค้า กระเป๋าใส่ของ โครงกระเป๋าถือ ฯลฯ ซึ่งเป็นชนิดของสินค้าที่สาธารณชนย่อมสามารถมองเห็นสินค้าแต่ละชนิดได้อย่างชัดเจนจนไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (13) imirror

คำว่า mirror แปลว่า กระจกเงา อันเป็นคำบรรยายสินค้าชนิดหนึ่งก็ตาม แต่การที่นำคำที่มีความหมายดังกล่าวมาใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้า มอเตอร์รถยนต์ ฯลฯ เมื่อ พิจารณาความหมายของคำและลักษณะทางกายภาพของสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ประกอบกันแล้วย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าลักษณะทางกายภาพของสินค้านั้นเป็นสินค้าที่มีขนาดและรูปร่างของสินค้าแต่ละอย่างที่มองเห็นได้และสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ากระจกเงากับสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้แต่ละอย่างหรือแต่ละชนิดได้อย่างชัดเจน จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในชนิดของสินค้า

(2) เครื่องหมายและคำบรรยายอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ “แหล่งกำเนิดของสินค้า” นั้น หมายถึง เครื่องหมายหรือคำบรรยายที่สื่อความหมายถึงหรือทำให้เข้ใจว่าเป็นประเทศ เมือง หรือสถานที่อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือที่มาของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยตรงเท่านั้น เช่น From China Made in Japan ให้พิจารณาร่วมกับถิ่นที่อยู่ของผู้ขอ ทั้งนี้ให้พิจารณาจากคำขอจดทะเบียนแบบ ก.01 ของผู้ขอ หากไม่สอดคล้องกันให้นายทะเบียนมีคำสั่งมาตรา 8 (13)

(3) เครื่องหมายและคำบรรยายอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดเกี่ยวกับ “ความเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ” เช่น กรณีเครื่องหมายมีข้อความแสดงชื่อ บริษัท แนนนี่ คอสเมติกส์ จำกัด หรือมีคำว่า By แนนนี่ แต่ชื่อเจ้าของคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญชัย ให้มีคำสั่ง ตค. 5 ข้อ 7 ให้ส่งหนังสือแสดงความสัมพันธ์ก่อนหากส่งไม่ใด้ ให้มีคำสั่งมาตรา 8 (13)

ประกาศกระทวงพาณิชย์ เรื่อง เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน (ฉบับที่2) พ.ศ. 2548

1) เครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย ได้แก่ ภาพช้างไทยภาพดอกราชพฤกษ์ ภาพศาลาไทย
2) เครื่องหมายที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือคล้ายกับภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทย

ตัวอย่าง - มาตรา 8 (13) สัญลักษณ์ประจำชาติไทย

Tags

รับจดเครื่องหมายการค้า, สัญลักษณ์ ลิขสิทธิ์, เครื่องหมาย ตราสินค้า, เครื่องหมาย บริการ, เครื่องหมายการค้า, เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์, เครื่องหมายการค้า โลโก้, trademark, เช็คเครื่องหมายการค้า, จดชื่อแบรนด์, จดทะเบียน trademark, จดทะเบียน โลโก้, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า, จดลิขสิทธิ์ โลโก้, จดเครื่องหมายการค้า, จดแบรนด์สินค้า


ก้าวสำคัญของธุรกิจคุณ ... ให้เราดูแลที่  Thai Tax Law