fbpx

เครื่องหมายการค้า คือ อะไร ?


Trademark Cover - เครื่องหมายการค้าคืออะไร

ความหมายของเครื่องหมายการค้า

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 กำหนดนิยามคำว่า เครื่องหมาย เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม ไว้ในมาตรา 4 ดังนี้ 

เครื่องหมาย

หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เสียง หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน โดยมีคำอธิบายสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ 

  1. ภาพถ่าย คือ ภาพที่เกิดขึ้นจากกระบวนการถ่ายภาพจากสิ่งที่ปรากฏอยู่
  2. ภาพวาด คือ ภาพที่เกิดขึ้นจากการวาดภาพเหมือนจากสิ่งที่ปรากฏอยู่หรือเป็นการวาดขึ้นเองตามจินตนาการ หรือสร้างจากคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมืออื่นใด
  3. ภาพประดิษฐ์ คือ ภาพที่สร้างขึ้น จัดทำขึ้นโดยให้แตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือที่มีอยู่ทั่วไป
  4. ตรา คือ เครื่องหมายที่มีลวดลาย และทำเป็นรูปต่าง ๆ
  5. ชื่อ คือ คำที่ใช้เรียกขานบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือองค์กรใด ๆ 
  6. คำ คือ พยัญชนะและสระที่ประกอบเข้าด้วยกัน โดยจะมีความหมายหรือไม่ก็ตาม 
  7. ข้อความ คือ เนื้อความตอนหนึ่ง ๆ ใจความสั้น ๆ 
  8. ตัวหนังสือ คือ ตัวอักษรในภาษาใด ๆ 
  9. ตัวเลข คือ ตัวเลขในภาษาใด ๆ 
  10. ลายมือชื่อ คือ ลายเส้นที่แสดงถึงชื่อของบุคคลธรรมดา 
  11. กลุ่มของสี คือ สีที่มีการรวมกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นสีอ่อน หรือสีแก่ 
  12. รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ คือ เครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุที่แสดงถึง ด้านกว้าง ด้านยาว ด้านลึก 
  13. เสียง อาจเป็นได้ทั้งเสียงของมนุษย์ เสียงสัตว์ เสียงดนตรี และเสียงอื่น ๆ 
  14. เครื่องหมายตาม 1 - 13 อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน

เครื่องหมายการค้า

หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า  เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

ตัวอย่าง - เครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายบริการ

หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ  เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น

ตัวอย่าง - เครื่องหมายบริการ

เครื่องหมายรับรอง

หมายความว่า เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้านั้น หรือเพื่อรับรองเกี่ยวกับสภาพ คุณภาพ ชนิด หรือคุณลักษณะอื่นใดของบริการนั้น

ตัวอย่าง - เครื่องหมายรับรอง

เครื่องหมายร่วม

หมายความว่า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้หรือจะใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกันหรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน

ตัวอย่าง - เครื่องหมายร่วม

ข้อกำหนด กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เครื่องหมายบริการ

การพิจารณาเครื่องหมายบริการ ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ามาใช้บังคับแก่เครื่องหมายบริการโดยอนุโลม และให้คำว่า “สินค้า” ดังกล่าวหมายความถึง “บริการ” (มาตรา 80)

เครื่องหมายรับรอง

เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) หมายความว่า เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้ หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดส่วนประกอบวิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้านั้น หรือเพื่อรับรองเกี่ยวกับสภาพ คุณภาพชนิด หรือคุณลักษณะอื่นใดของบริการนั้น

เจ้าของเครื่องหมายรับรองที่ได้จดทะเบียนแล้วจะใช้เครื่องหมายนั้นกับสินค้าหรือบริการของตนเอง ไม่ได้ และ จะอนุญาตให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับรองโดยใช้เครื่องหมายนั้นก็ไม่ได้ (มาตรา 90)

การพิจารณาเครื่องหมายรับรองให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ามาใช้บังคับแก่ เครื่องหมายรับรองโดยอนุโลม (มาตรา 81) การขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองต้องเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการขอจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าและผู้ขอจดทะเบียนจะต้อง

         1) ยื่นข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองนั้นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนด้วย และ
         2) แสดงได้ว่าตนมีความสามารถเพียงพอที่จะรับรองคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการตามที่ระบุไว้ใน ข้อบังคับตาม 1)

ข้อบังคับตาม 1) ต้องระบุถึงแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพหรือคุณลักษณะอื่นใด ของสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย รับรองนั้น หากผู้ขอไม่ยื่นข้อบังคับตาม 1) ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน เพราะเป็นเครื่องหมาย รับรองที่ไม่ชอบด้วย มาตรา 82 เพื่อให้การจัดทำข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองตามบทบัญญัติ มาตรา 82 เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กรมฯ จึงออกประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง กำหนดรายละเอียดข้อบังคับว่าด้วย การใช้เครื่องหมายรับรองตามนัยมาตรา 82 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2537 42 ดังต่อไปนี้

         1) ข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรา 82 วรรคสอง ให้ระบุรายการที่ผู้ขอจดทะเบียนมี เจตนาจะรับรองตามความเหมาะสมและจำเป็นแก่การรับรองสินค้าหรือบริการนั้น

         2) รายการตาม 1 มีดังต่อไปนี้
                  (1) แหล่งกำเนิด ควรระบุถึงสถานที่ซึ่งเป็นที่มา หรือที่ผลิต หรือที่ประกอบ หรือที่เริ่มกิจการของ สินค้าหรือบริการที่จะรับรอง
                  (2) ส่วนประกอบ ควรระบุถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบเป็นสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง
                  (3) วิธีการผลิต ควรระบุถึงกรรมวิธีการผลิตสินค้าหรือวิธีการให้บริการโดยสังเขป
                  (4) คุณภาพ ควรระบุถึงลักษณะส่วนดี หรือลักษณะประจำของสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง
                  (5) คุณลักษณะอื่นใดของสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง
                  (6) หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองควรระบุหลักเกณฑ์ในการขอใช้และอนุญาตให้ใช้ วิธีการใช้และอนุญาตให้ใช้ เงื่อนไขในการขอใช้และอนุญาตให้ใช้ มาตรการในการ ควบคุมคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง ฯลฯ

         3) ข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำขอจดทะเบียน ซึ่งตั้งจัดทำเป็นภาษาไทย

นายทะเบียนอาจมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองตามที่นายทะเบียนเห็นสมควรภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้นและมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 18 และมาตรา 19 มาใช้บังคับ แก่การอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนโดยอนุโลม (มาตรา 83)

ถ้านายทะเบียนเห็นว่า ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะรับรอง คุณลักษณะของสินค้าหรือบริการตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองนั้น หรือเห็นว่าการรับจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองนั้นและมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดย ไม่ชักช้า ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 18 และมาตรา 19 มาใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนโดยอนุโลม (มาตรา 84)

ตัวอย่าง

ตัวอย่าง - การพิจารณาเครื่องหมายรับรอง

เครื่องหมายร่วม

เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้หรือจะใช้ โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน

เป็นเครื่องหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เครื่องหมายโดยสมาชิกทั้งหมดขององค์กรหรือโดยเฉพาะ กลุ่มที่ถูกกำหนดไว้จากกลุ่มสมาชิกดังกล่าว

มาตรา 94 ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ามาใช้บังคับแก่เครื่องหมายร่วมโดยอนุโลม เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด 1 ส่วนที่ 5

กฎกระทรวงข้อ 59 ให้นำความในหมวด 2 เครื่องหมายการค้า เฉพาะส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 10 มาใช้ บังคับกับเครื่องหมายร่วมโดยอนุโลม

การขอจดทะเบียนเครื่องหมายร่วม ตามกฎกระทรวงข้อ 60 ให้ยื่นคำขอโดยบุคคลดังต่อไปนี้

         1) ในกรณีที่เป็นเครื่องหมายร่วมที่ใช้หรือจะใช้โดยบุคคลหรือนิติบุคคลของกลุ่มใด ๆ ซึ่งมีการ รวมกลุ่มในลักษณะที่ไม่เกิดเป็นนิติบุคคลขึ้นใหม่ต่างหากจากบุคคลหรือนิติบุคคลเดิม จะยื่นคำขอโดยบุคคล หรือนิติบุคคลทั้งหมดในกลุ่มหรือบุคคลหรือนิติบุคคลใดในกลุ่มก็ได้ และถ้าเป็นกรณีที่ยื่นคำขอโดยบุคคลหรือ นิติบุคคลใดในกลุ่มให้ผู้ขอจดทะเบียนระบุด้วยว่าเครื่องหมายร่วมนั้นใช้หรือจะใช้โดยบุคคลหรือนิติบุคคล ใดบ้าง

         2) ในกรณีที่เป็นเครื่องหมายร่วมที่ใช้หรือจะใช้โดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน ให้สมาคม สหกรณ์ สหภาพสมาพันธ์ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรอื่น ใดของรัฐหรือเอกชนนั้นเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน และให้ผู้ขอจดทะเบียนระบุด้วยว่าเครื่องหมายร่วมที่ขอจดทะเบียนนั้นใช้หรือจะใช้โดยสมาชิกทุกคน หรือเฉพาะสมาชิกคนใด

การขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้แนบเอกสารหลักฐานหรือคำชี้แจงที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายร่วมนั้นด้วย เช่น บัญชีรายชื่อสมาชิกในสหกรณ์ บัญชีรายชื่อสมาชิกในสมาคม หนังสือรับรองนิติบุคคลเป็นต้น

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายร่วม การขอต่ออายุเครื่องหมาย ร่วม และการขอเพิกถอนเครื่องหมายร่วม ตามกฎกระทรวงข้อ 61 ให้ผู้ขอจดทะเบียนร่วมนั้นเป็นผู้ยื่นคำขอ ต่อนายทะเบียนในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามข้อ 60 (1) และผู้นั้นไม่สามารถ ดำเนินการได้ ผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายร่วมอื่น ๆ จำนวนข้างมากในกลุ่มอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้บุคคลใด บุคคลหนึ่งในกลุ่มมาดำเนินการแทนผู้ขอจดทะเบียนเดิมก็ได้

แนวทางการพิจารณา

1) การพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของเครื่องหมายร่วมให้พิจารณาจากความประสงค์ของผู้ขอที่ระบุในคำขอจดทะเบียนแบบ ก.01 

         ตัวอย่าง คำขอ 632435 เจ้าของเครื่องหมายร่วมรายเดียว และมีผู้ร่วมใช้หลายรายมีสิทธิใช้เครื่องหมายร่วมกัน 

2) แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือการโอน ต้องกระทำโดยเจ้าของหรือตัวแทน โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม จากผู้ร่วมใช้

เงื่อนไขการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

การพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นอำนาจของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อมีผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ยื่นคำขอจดทะเบียนด้วยตัวเองผ่านฝ่ายบริการรับคำขอ หรือ ผ่านทางระบบจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) การตรวจสอบเครื่องหมายการค้าจะดำเนินการโดยนายทะเบียนผู้รับผิดชอบหนึ่งคน โดยเริ่มพิจารณาคำขอ จดทะเบียน 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 การตรวจสอบแบบพิมพ์คำขอและรายการในคำขอ

การตรวจสอบแบบพิมพ์คำขอและรายการในคำขอตามมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 ประกอบกฎกระทรวงฯ เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบรายละเอียดในแบบพิมพ์คำขอรายการในคำขอ การแนบสำเนาเอกสารประกอบคำขอ หนังสือมอบอำนาจ อากรแสตมป์ การรับรองลายมือชื่อ การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน

(1) การพิจารณาคำขอจดทะเบียน (แบบพิมพ์คำขอ)
(2) การพิจารณารายการสินค้าและบริการ
(3) การพิจารณาคำอ่านและคำแปล
(4) การพิจารณารูปเครื่องหมาย
(5) การพิจารณาการให้สิทธิตามมาตรา 28 และมาตรา 28 ทวิ (ถ้ามี)

ส่วนที่ 2 การพิจารณาลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน

เมื่อนายทะเบียนได้พิจารณาแบบพิมพ์คำขอและรายการในคำขอแล้ว นายทะเบียนจะพิจารณาต่อว่าเครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาลักษณะ 3 ประการตามมาตรา 6 ดังนี้

1. เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7

การพิจารณาเครื่องหมายการค้ามีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ ให้พิจารณาตามมาตรา 7 โดยวรรคแรกอธิบายถึงความหมายของเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ซึ่งหมายถึงเครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น (มีความสามารถในการแยกแยะความเป็นเจ้าของของสินค้าอย่างเดียวกัน)

2. เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 8

เมื่อพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว ลำดับต่อมาคือการพิจารณาลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังนั้นจึงต้องใช้อย่างเคร่งครัด โดยเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตาม (1)- (13) ถือเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน ซึ่งมีบางเป็นบทต้องห้ามเด็ดขาด บางเป็นบทต้องห้ามที่มีเงื่อนไข

3. ไม่เป็นเครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่น ตามมาตรา 13

เมื่อพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะและลักษณะต้องห้ามแล้ว ลำดับต่อมาคือการพิจารณาเปรียบเทียบความเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อน ซึ่งผู้ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อนเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนก่อน ตามหลัก “First to File” หากมีบุคคลใด (โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบกัน) นำเครื่องหมายที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันมายื่นขอจดทะเบียนภายหลัง นายทะเบียนก็จะมีคำสั่งตามมาตรา 20 หรือมาตรา 13 แล้วแต่กรณี

แผนผังขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

แผนผังขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
แผนผังแสดงขั้นตอนการทำงาน (Flowchart) นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า

ค่าธรรมเนียม การจดเครื่องหมายการค้า

ค่าธรรมเนียม-เครื่องหมายการค้าในประเทศ

ลำดับ

แบบ

รายการ

ค่าธรรมเนียม

1

ก.01

คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการเครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม

ก) สินค้าหรือบริการแต่ละจำพวก 1 ถึง 5 อย่าง อย่างละ

1,000 บาท

ข) สินค้าหรือบริการแต่ละจำพวก มากกว่า 5 อย่าง จำพวกละ

9,000 บาท

2

ก.02

คำคัดค้านการขอจดทะเบียนตาม (1) ฉบับละ

2,000 บาท

คำโต้แย้ง

ไม่มี

3

ก.03

คำอุทธรณ์

ก) อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 27 หรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามมาตรา 37 ฉบับละ

4,000 บาท

ข) อุทธรณ์ตามมาตราอื่น ฉบับละ

2,000 บาท

4

ก.04

คำขอโอนหรือรับมรดกสิทธิในคำขอที่ยื่นจดทะเบียน
และคำขอโอนหรือรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายที่จดทะเบียนแล้ว คำขอละ

2,000 บาท

5

ก.05

คำขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ คำขอละ

1,000 บาท

6

ก.06

คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอจดทะเบียนตาม (1) (4) และ (5) คำขอละ

200 บาท

คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม และสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ คำขอละ
หมายเหตุ (ยกเว้นกรณีแต่งตั้งตัวแทนผู้รับโอน ค่าธรรมเนียม 200 บาท)

400 บาท

คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรอง

ก) ก่อนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง คำขอละ

200 บาท

ข) หลังการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง คำขอละ

400 บาท

คำขออื่นๆ คำขอละ

200 บาท

7

ก.07

คำขอต่ออายุการจดทะเบียน

ก) สินค้าหรือบริการแต่ละจำพวก 1 ถึง 5 อย่าง อย่างละ

2,000 บาท

ข) สินค้าหรือบริการแต่ละจำพวก มากกว่า 5 อย่าง จำพวกละ

18,000 บาท

ค่าธรรมเนียมเพิ่ม กรณียื่นคำขอต่ออายุภายหลังวันสิ้นอายุ แต่ไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียน
หมายเหตุ (ชำระค่าปรับร้อยละ 20 ของค่าธรรมเนียมการต่ออายุ)

8

ก.08

คำร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม ฉบับละ

1,000 บาท

คำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ คำขอละ

400 บาท

9

ก.09

การขอตรวจดูทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม หรือสารบบเครื่องหมายดังกล่าว ชั่วโมงละ
(เศษของชั่วโมงให้คิดเป็นหนึ่งชั่วโมง)

200 บาท

การขอสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม เป็นชุดพร้อมคำรับรอง ฉบับละ

400 บาท

การขอคัดสำเนาเอกสาร หน้าละ

20 บาท

การขอให้รับรองสำเนาเอกสารเรื่องเดียวกัน

ก) เอกสารไม่เกิน 40 หน้า หน้าละ

20 บาท

ข) เอกสารเกิน 40 หน้า ฉบับละ

800 บาท

การขอคำรับรองจากนายทะเบียนเกี่ยวกับรายการการจดทะเบียน ฉบับละ

100 บาท

ใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ

200 บาท

คำขอตรวจดูแฟ้ม คำขอจดทะเบียน คำขอละ

200 บาท

คำขออื่นๆ คำขอละ

200 บาท

10

ก.10

คำขอถือสิทธิวันที่ยื่นคำขอนอกราชอาณาจักรครั้งแรกหรือวันที่นำสินค้าที่ใช้เครื่องหมายออกแสดงในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศเป็นวันยื่นคำขอในราชอาณาจักรตามมาตรา 28 , 28 ทวิ

ไม่มี

11

ก.11

ใบต่อแนบท้ายคำขอ

ไม่มี

12

ก.12

หนังสือแสดงการปฏิเสธ

ไม่มี

13

ก.13

หนังสือจดทะเบียนเครื่องหมายชุด

ยกเลิก

14

ก.14

หนังสือแจ้งฟ้องคดีต่อศาล คำพิพากษาและผลคดี

ไม่มี

15

ก.15

หนังสือชี้แจงการถูกร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน

ไม่มี

16

ก.16

บัตรหมาย

ยกเลิก

17

ก.17

หนังสือสัญญาโอน

ไม่มี

18

ก.18

หนังสือมอบอำนาจ

ไม่มี

19

ก.19

หนังสือขอผ่อนผันการส่งเอกสารหลักฐาน

ไม่มี

20

ก.20

หนังสือนำส่งเอกสารหลักฐานและคำชี้แจง

ไม่มี

21

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม

ก) สินค้าหรือบริการแต่ละจำพวก 1 ถึง 5 อย่าง อย่างละ

600 บาท

ข) สินค้าหรือบริการแต่ละจำพวก มากกว่า 5 อย่าง จำพวกละ

5,400 บาท

22

การจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ สัญญาละ

2,000 บาท

23

รูปเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมที่มีด้านกว้างหรือด้านยาวเกิน 5 เซนติเมตร
ให้คิดเฉพาะส่วนที่เกิน เศษของเซนติเมตรให้คิดเป็นหนึ่งเซนติเมตร เซนติเมตรละ

200 บาท

ค่าธรรมเนียม - เครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ *

ลำดับ

รายการ

ค่าธรรมเนียม

1

การจัดเตรียมและจัดส่งคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศและคำขออื่นภายใต้พิธีสารมาดริด

ก) บริการจัดเตรียมและจัดส่งคำขอจดทะเบียน คำขอละ

2,000 บาท

ข) บริการจัดเตรียมและจัดส่งคำขอต่ออายุ คำขอโอน คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง และคำขออื่นๆ คำขอละ

1,000 บาท

ค) คำขอให้บันทึกการจดทะเบียนระหว่างประเทศแทนการจดทะเบียนในราชอาณาจักร คำขอละ

2,000 บาท

หมายเหตุ* เฉพาะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียกเก็บ ไม่รวมค่าธรรมเนียมขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกและประเทศปลายทาง


Tags

รับจดเครื่องหมายการค้า, สัญลักษณ์ ลิขสิทธิ์, เครื่องหมาย ตราสินค้า, เครื่องหมาย บริการ, เครื่องหมายการค้า, เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์, เครื่องหมายการค้า โลโก้, trademark, เช็คเครื่องหมายการค้า, จดชื่อแบรนด์, จดทะเบียน trademark, จดทะเบียน โลโก้, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า, จดลิขสิทธิ์ โลโก้, จดเครื่องหมายการค้า, จดแบรนด์สินค้า


ก้าวสำคัญของธุรกิจคุณ ... ให้เราดูแลที่  Thai Tax Law